ผู้เขียน หัวข้อ: ยาแก้เมาเหล้า: อาการแปลกหลังดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจพบได้ในบางคน  (อ่าน 144 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 427
  • โพสประกาศขายในไทยฟรี
    • ดูรายละเอียด
การดื่มแอลกอฮอล์เป็นกิจกรรมที่อยู่ในวัฒนธรรมของคนทั่วโลก ไม่ว่าจะมีจุดประสงค์เพื่อการสังสรรค์ สร้างความผ่อนคลาย หรือปลอบประโลมจิตใจ แน่นอนว่าการดื่มแอลกอฮอล์จะกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกและเพิ่มความสนุกในการสนทนา แต่การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจะส่งผลให้มึนเมา สูญเสียการทรงตัว และคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งในบางคนอาจมีอาการหลังดื่มแอลกอฮอล์แตกต่างจากคนทั่วไปได้

เราคงเคยเห็นนักดื่มหรือเพื่อนร่วมวงสังสรรค์บางคนที่หน้าแดง ตัวแดง หรือคนที่เมาอย่างหนักแม้ดื่มแอลกอฮอล์ไปเพียงนิดเดียว ซึ่งอาการเหล่านี้อาจพบได้น้อยกว่าอาการทั่วไป หลายคนจึงอาจสงสัยว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและเป็นอันตรายหรือไม่บทความนี้มีคำตอบมาฝาก

4 อาการแปลกหลังดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจพบได้ในบางคน

ในหัวข้อนี้จะพูดถึงอาการหลังดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากอาการมึนเมาและคลื่นไส้อาเจียนที่พบได้ทั่ว โดยอาการหลังดื่มแอลกอฮอล์ที่พบได้ในบางคนอาจมีดังนี้


1. หน้าแดงหลังดื่มแอลกอฮอล์

อาการหน้าแดง ตัวแดงหลังดื่มแอลกอฮอล์เป็นอาการที่พบได้บ่อยในชาวเอเชีย รวมถึงคนไทยด้วย ในกลุ่มประเทศอื่นจึงอาจรู้จักกันในชื่อ Asian Flush อาการดังกล่าวเป็นผลมาจากภาวะไม่ทนทานต่อแอลกอฮอล์ (Alcohol Intolerance)

ภาวะนี้เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายมีปริมาณเอนไซม์แอลดีไฮด์ดีไฮโดรจีเนส 2 (Aldehyde Dehydrogenase 2: ALDH 2) น้อยหรือทำงานได้ไม่ดี ซึ่งเอนไซม์นี้มีคุณสมบัติย่อยสลายแอซีทาลดีไฮด์ (Acetaldehyde) โดยสารแอซีทาลดีไฮด์ คือ แอลกอฮอล์ที่ผ่านกลไกร่างกายเพื่อให้อยู่ในรูปที่สามารถย่อยและดูดซึมได้

เมื่อเอนไซม์ ALDH 2 น้อยหรือทำงานได้ไม่ดีจึงทำให้ร่างกายย่อยสลาย ดูดซึม และกำจัดแอซีทาลดีไฮด์ได้ไม่ดีเท่ากับคนทั่วไป เป็นผลให้เกิดความผิดปกติ เช่น หน้าแดง ตัวแดง เป็นผื่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น อีกทั้งคนที่มีภาวะไม่ทนทานต่อแอลกอฮอล์อาจมีแนวโน้มที่จะเมาเร็วกว่าคนอื่นด้วย

อาการหน้าแดง ตัวแดง และอาการอื่น ๆ จากภาวะนี้มักทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นอาการแพ้แอลกอฮอล์ (Alcohol Allergy) แม้ว่าอาการขั้นแรกอาจมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกัน แต่ความเป็นจริงแล้วอาการแพ้แอลกอฮอล์นั้นพบได้น้อยมากและรุนแรงมากกว่าจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดังนั้น หากจะเรียกให้ถูกต้อง อาการหน้าแดงหลังดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่อาจมาจากภาวะไม่ทนทานต่อแอลกอฮอล์มากกว่า

ภาวะและอาการดังกล่าวอาจพบได้ทั้งระดับที่ไม่รุนแรงไปจนถึงเป็นอันตราย แต่ยังไม่มีเกณฑ์แน่ชัดว่าปัจจัยใดที่ส่งผลต่อความรุนแรงได้บ้าง ในเบื้องต้นอาจเป็นปริมาณของเครื่องดื่มที่ดื่มเข้าไปและระดับความรุนแรงของภาวะไม่ทนทานต่อแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกันไปตามพันธุกรรมของแต่ละคน

ซึ่งภาวะนี้ไม่สามารถรักษาได้ หากเกิดอาการที่ไม่รุนแรงอาจใช้ยาแก้แพ้ (Antihismines) เพื่อชะลอกลไกร่างกายในการเปลี่ยนแอลกอฮอล์เป็นแอซีทาลดีไฮด์จึงอาจบรรเทาอาการได้เล็กน้อย แต่ทางที่ดีคือการหลีกเลี่ยงไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มในปริมาณเหมาะสม


2. ท้องเสียและปวดท้องหลังดื่มแอลกอฮอล์

ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายเป็นช่องทางที่สัมผัสกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไปมากที่สุด เพราะระบบเหล่านี้ทำหน้าที่ย่อยสารเคมีในเครื่องดื่ม และขับออก โดยปกติ ร่างกายจะมองว่าแอลกอฮอล์เป็นอันตรายต่อร่างกาย ร่างกายจึงพยายามที่ขับสิ่งเหล่านี้ออกจากร่างกายให้เร็วที่สุด

ด้วยเหตุนี้ เมื่อดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป ลำไส้ ระบบย่อยอาหาร และระบบขับถ่ายจะทำงานหนักขึ้นเพื่อขับสารเหล่านี้ออกจากร่างกายจึงผลให้ร่างกายดูดซึมน้ำและสารอาหารอื่น ๆ ได้ไม่เต็มที่ น้ำและของเหลวที่ดื่มเข้าไปจึงถูกขับออกไปพร้อมกับสารเคมี ทำให้หลังจากดื่มแอลกอฮอล์หลายคนจึงพบกับอาการถ่ายเหลวหรือท้องเสียตามมาได้

อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนก็ชี้ว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน

แอลกอฮอล์ส่งผลให้กระเพาะอาหารและลำไส้ระคายเคืองจึงอาจเกิดอาการปวดท้องหรือแสบท้องได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการท้องเสียอยู่ก่อน หรือเป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้ เช่น กลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) โรคโครห์น (Crohn’s Disease) และโรคเซลิแอค (Celiac Disease) เป็นต้น อีกทั้งผู้ที่ติดแอลกอฮอล์และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลในทางเดินอาหารที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้

การรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายหลังดื่มแอลกอฮอล์ อย่างขนมปังแผ่น กล้วย ข้าวสวย และเนื้อไก่อาจช่วยบรรเทาอาการท้องเสียและปวดท้อง นอกจากนี้ การหลีกเลี่ยงอาหารไฟเบอร์สูง อาหารไขมันสูง และอาหารรสจัดอาจลดความเสี่ยงของอาการเหล่านี้


3. อาการปวดหัวหลังดื่มแอลกอฮอล์

เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย เลือดที่สูบฉีดจะนำเอทานอล (Ethanol) ในแอลกอฮอล์ไปยังสมองและอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ทำให้ระบบประสาททำงานต่างไปจากเดิม จึงส่งผลให้เกิดความรู้สึกมึนเมา เวียนหัว และปวดหัวได้ สำหรับคนที่มีอาการไมเกรน (Migraine) การดื่มแอลกอฮอล์อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวชนิดดังกล่าวขึ้นภายในเวลาไม่นานหรือกระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้นแม้ดื่มในปริมาณเล็กน้อย

นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าปกติ ไม่ว่าจะจากระบบขับถ่ายที่ทำงานมากขึ้นหรือการอาเจียน เมื่อร่างกายสูญเสียของเหลวปริมาณมากจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวในเช้าวันถัดไป อาการนี้รู้จักกันในชื่อเมาค้างหรือแฮงค์ (Hangover) นั่นเอง

เพื่อป้องกันอาการปวดหัวหลังดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจากอาการไมเกรนหรือการขาดน้ำ ควรดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงอาการดังกล่าว รวมถึงจิบน้ำบ่อย ๆ หลังดื่มแอลกอฮอล์เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไป


4. ปวดตัวหลังดื่มแอลกอฮอล์

บางคนอาจพบอาการปวดกล้ามเนื้อหรือปวดตามข้อต่อหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีสารพิวรีน (Purine) เป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง เมื่อสารนี้เข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนกรดยูริก (Uric Acid) และส่งไปทั่วร่างกาย ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เมื่ออักเสบเรื้อรังก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคเก๊าต์ได้ และหากร่างกายอักเสบอยู่ก่อนแล้วก็อาจทำให้การอักเสบรุนแรงขึ้น

อาการปวดหรือเมื่อยกล้ามเนื้อหลังดื่มแอลกอฮอล์อาจมาจากปริมาณของกรดแลกติก (Lactic Acid) ในกล้ามเนื้อที่เพิ่มสูงขึ้น เดิมทีกล้ามเนื้อคนเรามีกรดแลกติกในปริมาณเล็กน้อยและจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อถูกใช้งาน

กรดแลกติกที่เพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เราปวดกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกาย ภายหลังออกกำลังกายร่างกายก็จะกำจัดกรดแลกติกออกทำให้อาการปวดลดลง ซึ่งแอลกอฮอล์จะเข้าไปเพิ่มปริมาณกรดแลกติกสะสมในร่างกายมากขึ้นจนทำให้รู้สึกปวดกล้ามเนื้อได้

เพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อหลังดื่มแอลกอฮอล์ ควรดื่มในปริมาณที่เล็กน้อย ดื่มน้ำเพื่อกำจัดแอลกอฮอล์และเร่งการสลายตัวของกรดแลกติกในกล้ามเนื้อ แต่ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

อาการเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาการที่อาจพบได้หลังดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่อาจเกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกันตามพันธุกรรมและปัญหาสุขภาพ แต่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากหรือดื่มบ่อยจนเกินไปก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของความผิดปกติเหล่านี้

รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง อย่างโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคตับ โรคสมอง โรคความผิดปกติทางอารมณ์ และโรคมะเร็ง อีกทั้งทำให้ขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ และความมึนเมาอาจเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ สูญเสียทรัพย์สิน เกิดการบาดเจ็บและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรมได้


อาการหลังดื่มแอลกอฮอล์แบบไหน ควรไปพบแพทย์?

หลังดื่มแอลกอฮอล์ หากพบอาการผิดปกติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรืออาการดูรุนแรง เช่น รู้สึกสับสน ชัก หายใจช้า ตัวซีด ผิวหนังดูคล้ำขึ้น ตัวเย็น หรือหมดสติ ควรพาไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ (Alcohol Toxicity) ที่ทำให้โคม่าและเสียชีวิตได้

นอกจากนี้หากพบอาการแพ้แอลกอฮอล์ เช่น เป็นลมพิษรุนแรง ตาแดง ผิวหนังบวม หน้าบวม ปากและคอบวม หายใจไม่ออก และเป็นลม ควรพาผู้ที่มีอาการไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาการแพ้รุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน

แม้ว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนจะชี้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมอาจส่งผลดีต่อสุขภาพแต่ก็ยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัด ในทางกลับกัน ผลเสียจากการดื่มแอลกอฮอล์นั้นได้รับการพิสูจน์ ยืนยัน และยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

ด้วยเหตุนี้เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพ อุบัติเหตุ และอาชญากรรม ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ดื่มบ่อยจนเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวและผู้ที่กำลังใช้ยาบางชนิด



ยาแก้เมาเหล้า: อาการแปลกหลังดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจพบได้ในบางคน อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://mmed.com/