ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: โรคมือ-เท้า-ปาก (Hand-foot-and-mouth disease)  (อ่าน 155 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 460
  • โพสประกาศขายในไทยฟรี
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: โรคมือ-เท้า-ปาก (Hand-foot-and-mouth disease)
« เมื่อ: วันที่ 4 สิงหาคม 2024, 18:47:12 น. »
หมอประจำบ้าน: โรคมือ-เท้า-ปาก (Hand-foot-and-mouth disease)

โรคมือ-เท้า-ปาก เป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งติดต่อได้ง่าย มักมีอาการไม่รุนแรง และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่

ในบ้านเรามีรายงานผู้ป่วยโรคนี้ประมาณปีละ 1,500-3,000 ราย ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี บางครั้งพบระบาดตามสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล



สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อกลุ่มไวรัสเอนเทอโร (enterovirus) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ค็อกแซกกีเอและบี (coxsackie A, B) ไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 ส่วนใหญ่ติดต่อจากการกินอาหาร น้ำดื่ม หรือการดูดเลียนิ้วมือ หรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อที่ออกมากับอุจจาระ น้ำเหลืองจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง หรือละอองน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อโดยการสูดเอาฝอยละอองน้ำมูกน้ำลายที่ผู้ป่วยไอจามรด

ที่พบบ่อยที่สุด คือการติดเชื้อไวรัสค็อกแซกกีเอ ชนิด 16 ซึ่งอาการมักจะไม่รุนแรง และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่

ที่พบน้อยแต่รุนแรง คือการติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงตายได้

ระยะฟักตัว 3-7 วัน


อาการ

แรกเริ่มผู้ป่วยจะมีอาการไข้ และอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย หลังจากนั้น 1-2 วัน จะมีน้ำมูก เจ็บปาก เจ็บคอ ไม่ยอมดูดนม ไม่อยากกินอาหาร เด็กเล็กอาจร้องงอแง ตรวจดูในช่องปากจะพบมีจุดนูนแดง ๆ หรือมีน้ำใสอยู่ข้างใต้ ขึ้นตามเยื่อบุปาก ลิ้น และเหงือก ซึ่งต่อมาจะแตกกลายเป็นแผลตื้น ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-8 มม. ซึ่งเจ็บมาก

ขณะเดียวกันก็มีผื่นขึ้นที่มือและเท้า บางรายขึ้นฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซอกนิ้วมือ หรือแก้มก้น ตอนแรกขึ้นเป็นจุดแดงราบก่อน แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำตามมา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-7 มม.

อาการไข้มักเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วันก็ทุเลาไปเอง แผลในปากมักหายได้เองภายใน 7 วัน ตุ่มที่มือและเท้าจะหายเองภายใน 10 วัน และมักไม่เป็นแผลเป็น

ในรายที่เป็นรุนแรง (ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย) อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบ


ภาวะแทรกซ้อน

ในรายที่มีอาการคัน อาจเกาจนติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน กลายเป็นตุ่มหนอง พุพอง

อาจมีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากเจ็บแผลในปากจนดื่มน้ำได้น้อย

บางรายอาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งมักไม่รุนแรง และหายได้เองภายใน 10 วัน

ที่รุนแรงแต่พบได้น้อย ได้แก่ สมองอักเสบ ภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) หรือเลือดออกในปอด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ซึ่งอาจรุนแรงถึงตายได้

ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมักเกิดในกลุ่มที่ติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา มีรายงานการระบาดและการตายของเด็กเล็กที่ติดเชื้อชนิดนี้ในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ออสเตรเลีย)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ไข้ 38-39 องศาเซลเซียส

จุดนูนแดง ตุ่มน้ำใส หรือแผลที่เยื่อบุปาก ลิ้นและเหงือก

จุดแดงราบ ตุ่มนูน หรือตุ่มน้ำที่มือ เท้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แก้มก้น

ในรายที่จำเป็น แพทย์อาจทำการตรวจเชื้อไวรัสจากสิ่งคัดหลั่งที่คอหอย อุจจาระ หรือน้ำเหลืองจากตุ่มน้ำบนผิวหนัง


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ให้การรักษาตามอาการดังนี้

    ให้พาราเซตามอลลดไข้
    ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ จนสังเกตเห็นว่ามีปัสสาวะออกมากและใส ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
    ในช่วงที่มีอาการเจ็บแผลในปาก ให้ผู้ป่วยกินอาหารเหลว หรือของน้ำ ๆ (เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด นม น้ำเต้าหู้ ของหวาน) โดยใช้ช้อนป้อน หรือใช้กระบอกฉีดยาค่อย ๆ หยอดเข้าปากแทนการดูดจากขวด (สำหรับทารก) ให้อมน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ ดื่มน้ำหรือนมเย็น ๆ กินไอศกรีม หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ (ใส่เกลือแกง 1/2 ช้อนชา ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) บ่อย ๆ เพื่อลดอาการเจ็บแผล

2. ถ้าแผลกลายเป็นตุ่มหนอง หรือพุพองจากการเกา ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน เป็นต้น

3. ถ้าเจ็บแผลในปากมากจนกินอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ แพทย์จะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และอาจให้ยาชา (เช่น lidocaine, benzocaine) ทาแผลในปากเพื่อลดความเจ็บปวด

4. ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง ไม่ค่อยรู้ตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบ แพทย์จะรับไว้ในโรงพยาบาล ทำการตรวจเพิ่มเติมและรักษาตามภาวะแทรกซ้อนที่พบ


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีไข้ร่วมกับมีแผลเปื่อยในปาก (ปากเจ็บ คอเจ็บ) และมีผื่นตุ่มขึ้นที่มือและเท้า ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคมือ-เท้า-ปาก ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ จนสังเกตเห็นว่ามีปัสสาวะออกมากและใส ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
    ในช่วงที่มีอาการเจ็บแผลในปาก ให้ผู้ป่วยกินอาหารเหลว หรือของน้ำ ๆ (เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด นม น้ำเต้าหู้ ของหวาน) โดยใช้ช้อนป้อน หรือใช้กระบอกฉีดยาค่อย ๆ หยอดเข้าปากแทนการดูดจากขวด (สำหรับทารก) ให้อมน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ ดื่มน้ำหรือนมเย็น ๆ กินไอศกรีม หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ (ใส่เกลือแกง 1/2 ช้อนชา ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) บ่อย ๆ เพื่อลดอาการเจ็บแผล


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
    มีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก ซึมมาก ไม่ค่อยรู้สึกตัว เพ้อคลั่ง หรือชัก
    หายใจหอบ หรือเจ็บหน้าอกมาก
    กินอาหารหรือดื่มนมและน้ำได้น้อย หรือมีปัสสาวะออกน้อย
    ผื่นกลายเป็นตุ่มหนองหรือพุพอง
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

1. ควรแยกผู้ป่วยไม่ให้คลุกคลีกับผู้อื่นประมาณ 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าตุ่มแผลต่าง ๆ จะหายดี เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก

2. ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่หลังถ่ายอุจจาระหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม ก่อนเตรียมอาหาร และก่อนเปิบอาหาร

3. หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ขวดนม ช้อน ชาม เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ของเล่น เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้

4. ฝึกเด็กให้มีสุขนิสัยที่ดี รวมทั้งหลีกเลี่ยงการนำนิ้วมือหรือของเล่นเข้าปาก

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้มักจะวินิจฉัยจากลักษณะอาการ ซึ่งต้องแยกออกจากโรคเริม อีสุกอีใส แผลแอฟทัส พุพอง เป็นต้น (ตรวจอาการ ไข้ร่วมกับมีผื่นหรือตุ่มขึ้น และ ปากเจ็บ/แผลที่ปาก/ลิ้นเป็นฝ้าขาว ประกอบ)

2. ในผู้ใหญ่อาจติดเชื้อโดยไม่มีอาการแสดง แต่สามารถแพร่เชื้อออกมาทางอุจจาระ ดังนั้น ควรป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดยการล้างมือด้วยน้ำกับสบู่หลังถ่ายอุจจาระและก่อนเตรียมอาหาร

3. แม้ว่าโรคนี้มักหายได้เองภายใน 7-10 วัน (เต็มที่ไม่เกิน 2 สัปดาห์) แต่ควรแนะนำให้สังเกตภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ปอด และหัวใจอย่างใกล้ชิด หากสงสัยควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว

4. โรคนี้เป็นคนละชนิดกับโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยที่พบในสัตว์ (เช่น โค กระบือ) และไม่ติดเชื้อจากสัตว์ที่ป่วย