ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: ซิฟิลิส (syphilis)  (อ่าน 16 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 381
  • โพสประกาศขายในไทยฟรี
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: ซิฟิลิส (syphilis)
« เมื่อ: วันที่ 11 พฤศจิกายน 2024, 16:52:53 น. »
หมอออนไลน์: ซิฟิลิส (syphilis)

ซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อหลายระบบและภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้มากกว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ และมีระยะแฝงตัวของโรคที่ค่อนข้างยาวนาน ซึ่งสามารถแพร่ให้คู่สมรสและทารกในครรภ์ได้

โรคนี้พบได้บ่อยรองจากหนองใน

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อซิฟิลิส ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เทรโพนีมาพัลลิดัม (Treponema pallidum) ติดต่อโดยการร่วมเพศ เชื้อจะเข้าทางรอยถลอกหรือบาดแผลเล็กน้อย หรืออาจไชเข้าเยื่อบุผิวของท่อปัสสาวะ ทวารหนัก ช่องคลอดหรือช่องปาก รวมทั้งการแพร่เชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์

อาการ

โรคนี้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 เป็นแผล หลังจากติดเชื้อประมาณ 10-90 วัน จะมีตุ่มเล็ก ๆ เท่าหัวเข็มหมุดเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ (อาจเกิดขึ้นที่หัวหน่าว ขาหนีบ ทวาร หรือริมฝีปากก็ได้ สุดแล้วแต่ตำแหน่งที่เชื้อเข้า) ซึ่งต่อมาจะแตกแล้วกลายเป็นแผลกว้าง ขอบแผลเรียบและแข็ง เรียกว่า แผลริมแข็ง (chancre) มักมีแผลเดียว รูปกลมหรือวงไข่ อาจมี 2 แผลซึ่งจะชนชิดกัน แผลไม่เจ็บไม่คัน พื้นแผลสีแดง และดูสะอาด

ประมาณ 1 สัปดาห์หลังมีตุ่มขึ้น จะพบต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตทั้ง 2 ข้าง ไม่เจ็บ มีลักษณะแข็งแยกจากกัน และสีของผิวหนังบริเวณต่อมน้ำเหลืองไม่เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ

แม้ไม่ได้รับการรักษา แผลอาจหายได้เองใน 3-10 สัปดาห์ แต่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย

การเจาะเลือดหาวิดีอาร์แอล จะพบเลือดบวกหลังจากมีเเผล 1-2 สัปดาห์

ระยะที่ 2 เข้าข้อ ออกดอก พบหลังระยะแรกประมาณ 4-8 สัปดาห์ (อาจเกิดหลังมีแผลเพียง 2-3 วัน หรือนานหลายเดือนก็ได้) เชื้อจะเข้าต่อมน้ำเหลืองและอยู่ในเลือดกระจายไปทั่วร่างกาย มีผื่นขึ้นทั้งตัวและที่ฝ่ามือฝ่าเท้าด้วย (ต่างจากผื่นของโรคอื่น ๆ ที่มักไม่ขึ้นที่ฝ่ามือฝ่าเท้า) ผื่นเหล่านี้จะไม่คัน ซึ่งเรียกกันว่า ออกดอก

นอกจากนี้ยังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ต่ำ ๆ เป็นครั้งคราว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เจ็บคอ เสียงแหบ ปวดหลัง ปวดตามกระดูก ต่อมน้ำเหลืองโต แผลที่เยื่อบุในช่องปากหรือบริเวณอวัยวะเพศ มีลักษณะเป็นแผลเป็นตื้น ๆ (มีเยื่อสีขาวปนเทาคลุม) มีตุ่มหงอนไก่ (ที่เรียกว่า condyloma lata ลักษณะคล้ายตุ่มหูด หรือหงอนของไก่) ขึ้นที่รอบ ๆ อวัยวะเพศหรือทวารหนัก ผมร่วงทั่วศีรษะหรือเป็นหย่อม (ดู "ผมร่วง ผมบาง" เพิ่มเติม) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หน่วยไตอักเสบ โรคโตเนโฟรติก ตับอักเสบ ม่านตาอักเสบ เป็นต้น

ในระยะนี้ ถ้าตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอลจะพบเลือดบวก

ผื่นและอาการต่าง ๆ จะหายได้เองแม้ไม่ได้รักษา แต่เชื้อจะแฝงตัวนานเป็นปี ๆ อาจเป็น 5 ปี 10 ปี เรียกว่า ซิฟิลิสระยะแฝง (latent syphilis) หลังจากนั้นก็เข้าสู่ระยะที่ 3

ระยะที่ 3 ระยะทำลาย เกิดจากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกวิธี เช่น ซื้อยากินเอง ทำให้เข้าสู่ระยะร้ายแรงของโรค


ภาวะแทรกซ้อน

เชื้ออาจเข้าสู่สมองและไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาต บ้านหมุน เดินเซ ชัก ความจำเสื่อม ตามัว ตาบอด หูตึง หูหนวก บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงและอาจเสียสติได้

เชื้ออาจเข้าสู่หัวใจ ทำให้เป็นโรคลิ้นหัวใจเออร์ติกรั่ว (aortic insufficiency) หลอดเลือดแดงใหญ่อักเสบ (aortitis) หรือหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง

ผู้ที่เป็นซิฟิลิสอาจไม่มีแผลให้เห็นในระยะที่ 1 หรือมีอาการเข้าข้อออกดอกในระยะที่ 2 แต่จะเข้าไปแฝงตัวอยู่ในร่างกายรอเข้าสู่ระยะที่ 3 เลยก็ได้

ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ถ้าติดเชื้อซิฟิลิส (อาจเป็นโดยไม่รู้ตัว หรือไม่มีอาการแสดงชัดเจน) แล้วไม่ได้รับการรักษา เชื้ออาจถ่ายทอดไปยังทารกในครรภ์โดยผ่านเข้าไปทางรก ทำให้ทารกตายในครรภ์หรือตายหลังคลอด หรือไม่ก็อาจเกิดความพิการไปตลอดชีวิต เราเรียกซิฟิลิสที่เกิดในทารกในลักษณะนี้ว่า ซิฟิลิสแต่กำเนิด (congenital syphilis) ซึ่งจะมีอาการแสดงภายใน 6 สัปดาห์หลังคลอด โดยเด็กจะมีอาการเป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกเป็นหนองหรือช้ำเลือดช้ำหนอง มีผื่นขึ้น หนังลอกน่าเกลียด ซีด เหลือง บวม ตับโต ม้ามโต และถ้าไม่ได้รับการรักษาเด็กจะมีความพิการต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น จมูกบี้หรือยุบ (พูดไม่ชัด) เพดานโหว่ กระจกตาอักเสบ (อาจกลายเป็นแผลกระจกตา สายตาพิการได้) หูหนวก ฟันพิการ หน้าตาพิการ เป็นต้น

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ระยะแรก พบแผลที่อวัยวะเพศ มีลักษณะขอบแผลเรียบและแข็ง ไม่เจ็บไม่คัน มักมีแผลเดียว รูปกลมหรือวงไข่ อาจมี 2 แผลซึ่งจะชนชิดกัน ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตทั้ง 2 ข้าง

ระยะต่อมา พบผื่นขึ้นทั้งตัวและที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ผมร่วงทั่วศีรษะหรือเป็นหย่อม แผลที่เยื่อบุในช่องปากหรือบริเวณอวัยวะเพศ ตุ่มหงอนไก่ (คล้ายตุ่มหูด หรือหงอนของไก่) ที่รอบ ๆ อวัยวะเพศหรือทวารหนัก

สำหรับซิฟิลิสระยะแฝง (latent syphilis) การตรวจร่างกายมักไม่พบสิ่งปกติ

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจเลือดหาสารภูมิต้านทานต่อเชื้อซิฟิลิสด้วยวิธี "วีดีอาร์เเอล (venereal disease research laboratory/VDRL)" และ/หรือวิธีอื่น ๆ* บางรายแพทย์อาจทำการตรวจหาเชื้อจากน้ำเหลืองที่แผล หรือสารคัดหลั่งในจมูก   

ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์ก็จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น สงสัยเชื้อเข้าสมอง แพทย์จะทำการเจาะหลังนำน้ำไขสันหลังไปตรวจหาเชื้อ เป็นต้น

สำหรับทารกที่สงสัยเป็นซิฟิลิสแต่กำเนิด แพทย์จะตรวจเลือดของมารดาและทารกหาสารภูมิต้านทานต่อเชื้อซิฟิลิส ตรวจหาเชื้อจากรกและสายสะดือ ตรวจน้ำไขสันหลังของทารก เอกซเรย์ และอื่น ๆ

*แพทย์มักเริ่มต้นด้วยการตรวจกรองด้วยวีดีอาร์เเอลเป็นหลัก (บางรายอาจใช้วิธี rapid plasma reagin หรือ RPR แทน) เมื่อให้ผลเป็นบวก ก็จะตรวจยืนยันด้วยการตรวจที่ให้ผลแน่ชัด เช่น enzyme immunoassays (EIA), chemiluminescence immunoassays (CMIA) เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะตัวหลักคือ เพนิซิลลิน เช่น เบนซาทีนเพนิซิลลิน, เพนิซิลลินจี ซึ่งใช้กันมาเนิ่นนานและยังใช้ได้ดีสำหรับซิฟิลิสทุกระยะ ในรายที่แพ้ยาเพนิซิลลิน แพทย์จะให้ ดอกซีไซคลีน, อะซิโทรไมซิน หรือเซฟทริอะโซน (ceftriaxone) แทน

แพทย์จะเลือกใช้ชนิดยา ขนาด วิธีใช้ และระยะของการให้ยา ตามระยะของโรค ภาวะโรคที่วินิจฉัย และสภาวะของผู้ป่วย อาทิ

    สำหรับซิฟิลิสในระยะที่ 1 และ 2 เบนซาทีนเพนิซิลลินฉีดเข้ากล้ามเพียงครั้งเดียว (สำหรับระยะที่ 2 อาจฉีดซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา) หรือให้อะซิโทรไมซินเพียงครั้งเดียว

ถ้าให้ดอกซีไซคลีน หรือเซฟทริอะโซน ให้นาน 14 วัน (สำหรับหญิงตั้งครรภห้ามใช้ดอกซีไซคลีน)

    สำหรับซิฟิลิสในระยะแฝง (เป็นมานานกว่า 2 ปี ตั้งแต่เริ่มเป็นแผลริมแข็ง) หรือแผลซิฟิลิสเรื้อรัง หรือซิฟิลิสเข้าระบบหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular syphilis) ฉีดเบนซาทีนเพนิซิลลิน เป็นจำนวน 3 ครั้ง ห่างกันทุก 1 สัปดาห์ ถ้าให้ดอกซีไซคลีน จะให้นาน 28 วัน

    ในรายที่เป็นซิฟิลิสเข้าระบบประสาทและสมอง (neurosyphilis) รักษาโดยการฉีดเพนิซิลลินจี นาน 10-14 วัน และตามด้วยเบนซาทีนเพนิซิลลินฉีดเข้ากล้ามสัปดาห์ละครั้ง จำนวน 1-3 ครั้ง ถ้าแพ้ยานี้ให้เซฟทริอะโซนฮีดเข้ากล้ามหรือเข้าหลอดเลือดดำ นาน 10-14 วัน

    ซิฟิลิสแต่กำเนิด ฉีดเพนิซิลลินจี นาน 10 วัน

ผลการรักษา ส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งหลังให้ยาแพทย์จะติดตามตรวจดูอาการและตรวจเลือดเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าการรักษาได้ผลดี ไม่มีการดื้อต่อยาที่รักษา

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีแผลที่อวัยวะเพศ มีผื่นขึ้นทั้งตัวและฝ่ามือฝ่าเท้า ผมร่วง ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นซิฟิลิส ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา ใช้ยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหาย


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา 
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    มีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา

การป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ถ้าจะหลับนอนกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัย และฟอกล้างสบู่ทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์

2. ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยซิฟิลิสในระยะ 3 เดือนแรก ควรได้รับการรักษาแบบซิฟิลิสระยะแรก

3. สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรตรวจกรองโรคด้วยการตรวจเลือด หากพบว่าเป็นซิฟิลิสแฝง แพทย์จะได้ให้การรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้ทารก

ข้อแนะนำ

1. สำหรับซิฟิลิสระยะ 1 และ 2 รวมทั้งระยะแฝง ภายใน 2 ปีแรกหลังการรักษา ควรตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอลเดือนละครั้งใน 3 เดือนแรก ต่อไปตรวจทุก 3 เดือนจนครบ 9 เดือน ต่อไปตรวจทุก 6 เดือนจนครบ 1 ปี (รวมทั้งหมด 2 ปี) เพื่อให้แน่ใจว่าโรคหายขาด โดยทั่วไปผลเลือดจะเป็นปกติภายใน 2 ปี

สำหรับซิฟิลิสระยะแฝงเกิน 2 ปี ซิฟิลิสเข้าระบบหัวใจและหลอดเลือด และซิฟิลิสที่เข้าระบบประสาทและสมอง ควรตรวจวีดีอาร์แอลทุก 3 เดือนจนครบปีที่ 1 ต่อไปทุก 6 เดือนจนครบปีที่ 2 ต่อไปปีละ 1 ครั้งจนตลอดชีวิตของผู้ป่วย

2. การวินิจฉัยซิฟิลิสต้องอาศัยการตรวจเลือด (วีดีอาร์แอล หรือ RPR) เป็นสำคัญ จะดูจากอาการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ว่าชนิดใดก็ตาม ควรตรวจเลือดทุกราย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นซิฟิลิส หรือถ้าเป็นจะได้ให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรก ก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา

3. ผู้หญิงบางคนอาจติดเชื้อซิฟิลิสจากสามีที่ชอบเที่ยวโดยไม่มีอาการแสดงให้ทราบ และอาจติดทารกในครรภ์ได้ เช่นเดียวกับการติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้น ในการฝากครรภ์ควรเจาะเลือดเพื่อตรวจหาวีดีอาร์แอลและควรตรวจหาเชื้อเอชไอวีพร้อม ๆ กันไปทุกราย ถ้าเลือดบวกต้องแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อป้องกันมิให้แพร่เชื้อให้ทารกในครรภ์