ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: หนองในเทียม (Nonspecific urethritis/NSU/Nongonococcal urethritis/NGU)หนองในเทียม เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยรองจากหนองในและซิฟิลิส โดยจะมีอาการคล้ายหนองใน ซึ่งเกิดจากเชื้อชนิดอื่น
สาเหตุ
เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคหนองในเทียมมีได้หลายชนิด อาจเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัวหรือเชื้อราก็ได้ ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยโรคนี้ยังไม่ทราบเชื้อที่เป็นสาเหตุแน่ชัด ประมาณร้อยละ 40 เกิดจากคลามีเดียทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) ซึ่งเป็นแบคทีเรีย (เชื้อนี้มีพันธุ์ย่อยอีกหลายชนิด ซึ่งบางชนิดทำให้เป็นฝีมะม่วง) ประมาณร้อยละ 30 เกิดจากเชื้อยูเรียพลาสมายูเรียไลทิคัม (Ureaplasma urealyticum)
นอกนั้นอาจเกิดจากเชื้ออื่น ๆ เช่น เชื้อโปรโตซัวที่มีชื่อว่า ทริโคโมเเนสวาจินาลิส (Trichomanas vaginalis) เชื้อไวรัสเริม เป็นต้น
ระยะฟักตัว ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือนานกว่า
อาการ
ในผู้ชาย อาการมักเกิดหลังติดเชื้อประมาณ 1-4 สัปดาห์ โดยมีอาการแสบที่ปลายท่อปัสสาวะ ปัสสาวะขัดและมีหนองไหล ซึ่งลักษณะเป็นมูกใสหรือมูกขุ่น ๆ ไม่เป็นหนองข้นแบบหนองใน และออกซึมเพียงเล็กน้อย ไม่ออกมากแบบหนองใน บางรายในระยะแรกอาจสังเกตมีอาการแสบที่ท่อปัสสาวะ และมีมูกออกเล็กน้อยเฉพาะในช่วงเช้าเท่านั้น
ถ้าให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะลงในแก้วใส แล้วใช้ไฟฉายส่องดู จะเห็นเส้นขาว ๆ คล้ายเส้นด้ายลอยอยู่
ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการอาจเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี
ในผู้หญิง ส่วนมากมักไม่มีอาการแสดง ส่วนน้อยอาจมีอาการตกขาว (ตรวจอาการตกขาว/คันในช่องคลอด)
ภาวะแทรกซ้อน
ในผู้ชาย อาจทำให้ท่อปัสสาวะตีบ ต่อมลูกหมากอักเสบ อัณฑะอักเสบ
ในผู้หญิง อาจทำให้เยื่อบุมดลูกอักเสบ ปีกมดลูกอักเสบ เป็นหมัน
นอกจากนี้ ทั้งสองเพศอาจทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบได้ แต่พบได้น้อยมาก
บางรายอาจเกิดกลุ่มอาการไรเตอร์ (Reiter’s syndrome) ซึ่งจะมีอาการหนองไหลจากท่อปัสสาวะร่วมกับข้ออักเสบและเยื่อตาขาวอักเสบ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้
มีหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะ ซึ่งลักษณะเป็นมูกใสหรือมูกขุ่น ๆ
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการนำหนองไปย้อมสี และส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือนำไปเพาะเชื้อ
การรักษาโดยแพทย์
นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะขนานใดขนานหนึ่ง เช่น
ดอกซีไซคลีน กินครั้งละ 100 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 1-2 สัปดาห์
เตตราไซคลีน กินครั้งละ 500 มก. วันละ 4 ครั้ง นาน 14 วัน
อีริโทรไมซิน กินครั้งละ 500 มก. วันละ 4 ครั้ง นาน 14 วัน
ร็อกซิโทรไมซิน กินครั้งละ 150 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 1-2 สัปดาห์
อะซิโทรไมซิน 1 กรัม กินครั้งเดียว
ไมโนไมซิน (minomycin ซึ่งเป็นยาในกลุ่มเตตราไซคลีน) กินครั้งละ 100 มก. วันละครั้ง นาน 14 วัน
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ แพทย์จะหลีกเลี่ยงกลุ่มยาเตตราไซคลีน (ได้แก่ ดอกซีไซคลีน เตตราไซคลีน ไมโนไมซิน)
ผลการรักษา หลังให้ยาปฏิชีวนะ มักจะหายเป็นปกติได้ใน 1-2 สัปดาห์
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีหนองไหลจากท่อปัสสาวะ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นหนองในเทียม ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
งดดื่มเหล้า และงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหาย
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
มีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา
การป้องกัน
หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ถ้าจะหลับนอนกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัย และฟอกล้างสบู่ทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์
ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยควรเจาะเลือดตรวจวีดีอาร์แอลและเชื้อเอชไอวี (เลือดบวก) ตั้งแต่ก่อนรักษาครั้งหนึ่ง และอีก 3 เดือนต่อมาตรวจอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ติดโรคซิฟิลิสหรือเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย
2. โรคหนองในเทียมอาจเป็นเรื้อรังและรักษายากกว่าหนองใน เนื่องจากส่วนใหญ่จะตรวจไม่พบเชื้อที่เป็นสาเหตุ แต่โรคหนองในเทียมที่เกิดจากเชื้อคลามีเดียมีทางรักษาให้หายขาดได้ภายใน 14 วัน ในรายที่ไม่ได้รับการรักษาร้อยละ 20-30 อาจหายได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์ และร้อยละ 60 จะหายได้ภายใน 8 สัปดาห์
3. ทารกที่เกิดจากมารดาที่เป็นหนองในเทียมจากเชื้อคลามีเดียอาจได้รับเชื้อระหว่างคลอด ทำให้เกิดอาการตาอักเสบหลังคลอดประมาณ 5-14 วัน แต่อาการมักจะรุนแรงน้อยกว่าตาอักเสบจากเชื้อหนองใน การรักษาให้ใช้ยาป้ายตาเตตราไซคลีน ป้ายวันละ 4 ครั้ง และให้อีริโทรไมซินในขนาด 30 มก./กก./วัน นาน 21 วัน
4. ควรแนะนำให้ผู้สัมผัสโรคไปตรวจรักษาโรคนี้พร้อม ๆ กันไปด้วย