ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: ปวดศีรษะจากความเครียด (Tension-type headache/TTH)  (อ่าน 50 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 370
  • โพสประกาศขายในไทยฟรี
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: ปวดศีรษะจากความเครียด (Tension-type headache/TTH)

ปวดศีรษะจากความเครียด* (ปวดศีรษะแบบตึงเครียด ก็เรียก) เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ประมาณร้อยละ 80-90 ของผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ จะมีสาเหตุจากโรคนี้

โรคนี้พบได้ในทุกวัย มักเริ่มอาการครั้งแรกตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว (มีโอกาสน้อยมากที่จะมีอาการครั้งแรกหลังอายุ 50 ปี) และพบมีอาการกำเริบบ่อยในช่วงอายุ 20-50 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 1.5-2 เท่า

* มีชื่อเรียกอื่น เช่น tension headache, muscle contraction headache, psychogenic headache, psychomyogenic headache


สาเหตุ

แต่เดิมเชื่อว่าเกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและใบหน้า ปัจจุบันพบว่า ภาวะดังกล่าวเป็นอาการแสดงของโรคไม่ใช่สาเหตุ ส่วนสาเหตุและกลไกการเกิดโรคที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าเกิดจากการกระตุ้นของสิ่งเร้าที่กล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณรอบกะโหลกศีรษะ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทเกิดขึ้นตรงประสาทส่วนกลาง (อาจเป็นที่บางส่วนของไขสันหลังหรือเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5) แล้วส่งผลกลับมาที่เนื้อเยื่อรอบกะโหลกศีรษะ ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัว หรือมีการเปลี่ยนแปลงของสารส่งผ่านประสาท (เช่น ซีโรโทนิน เอนดอร์ฟิน โดพามีน) ในเนื้อเยื่อดังกล่าว ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ

ส่วนใหญ่มักพบว่ามีสาเหตุกระตุ้น ได้แก่ ความเครียด (มักจะเกิดขึ้นในช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ หลังจากคร่ำเคร่งกับการงาน) หิว (กินอาหารผิดเวลา) อดนอน ตาล้าหรือเพลีย (eyestrain)

นอกจากนี้ยังอาจพบร่วมกับโรคไมเกรน โรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์หรือการปรับตัว


อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตื้อ ๆ หนัก ๆ ที่ขมับ หน้าผาก กลางศีรษะหรือท้ายทอยทั้ง 2 ข้าง หรือทั่วศีรษะ หรือปวดรอบศีรษะคล้ายเข็มขัดรัด นาน 30 นาทีถึง 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มักจะเป็นนานเกิน 24 ชั่วโมง บางรายอาจนานเป็นสัปดาห์ ๆ หรือเป็นแรมเดือน โดยอาการปวดจะเป็นอย่างคงที่ ส่วนใหญ่จะปวดเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนน้อยอาจรุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อกิจวัตรประจำวัน ผู้ป่วยจะไม่มีคลื่นไส้ อาเจียน และไม่เป็นมากขึ้นเมื่อถูกแสง เสียง กลิ่น หรือมีการเคลื่อนไหวของร่างกายแบบไมเกรน

ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะตั้งแต่หลังตื่นนอนหรือในช่วงเช้า ๆ บางรายอาจปวดตอนบ่าย ๆ หรือเย็น ๆ หรือหลังจากได้คร่ำเคร่งกับงานมาก หิวข้าว หรือขณะมีเรื่องคิดมาก วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ


ภาวะแทรกซ้อน

อาจมีผลต่อจิตใจ เช่น ความวิตกกังวล เบื่องาน แยกตัวจากสังคม เสียสมาธิ กระทบต่อการงานหรือการเรียน


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการเป็นหลัก

การตรวจร่างกายมักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน

บางรายอาจพบอาการตึงตัวของกล้ามเนื้อหรือจุดที่กดเจ็บในบริเวณรอบ ๆ ศีรษะ ท้ายทอย หลังคอ หรือไหล่

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคปวดศีรษะจากความเครียด

1. มีอาการปวดศีรษะมาอย่างน้อย 10 ครั้ง ซึ่งมีลักษณะเข้าได้กับข้อ 2-4*

2. ปวดแต่ละครั้งนาน 30 นาทีถึง 1 สัปดาห์

3. มีลักษณะต่อไปนี้อย่างน้อย 2 อย่าง

    ปวดแบบตื้อ ๆ หนัก ๆ หรือบีบรัด ไม่ปวดตุบ ๆ
    รุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลาง (ไม่เป็นอุปสรรคต่อกิจวัตรประจำวัน)
    ปวดพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง
    ไม่ปวดมากขึ้นเวลาขึ้นบันได หรือมีการเคลื่อนไหวของร่างกาย

4. มีลักษณะต่อไปนี้ทั้ง 2 อย่าง

    ไม่มีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน
    ไม่มีอาการกลัวแสง และกลัวเสียง หรือมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

 
* ถ้ามีอาการปวดศีรษะน้อยกว่า 15 วัน/เดือน เรียกว่า โรคปวดศีรษะจากความเครียดชนิดครั้งคราว (episodic tension-type headache) แต่ถ้ามีอาการมากกว่า 15 วัน/เดือน เรียกว่า โรคปวดศีรษะจากความเครียดชนิดเรื้อรัง (chronic tension-type headache)

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. แนะนำผู้ป่วยเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว และให้ยาแก้ปวด หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

ถ้ามีอาการนอนไม่หลับ ให้ยานอนหลับ กินก่อนนอน

ในรายที่มีความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า ก็ให้การดูแลรักษาแบบเดียวกับโรคกังวลทั่วไป หรือโรคซึมเศร้า

2. ถ้าปวดรุนแรง ปวดถี่หรือปวดแรงขึ้นทุกวัน ปวดมากตอนดึกหรือเช้ามืดจนทำให้สะดุ้งตื่น เป็น ๆ หาย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือสงสัยว่าอาจมีสาเหตุร้ายแรง แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด เช่น ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

3. ถ้าเป็นโรคปวดศีรษะจากความเครียดที่ดื้อต่อยาแก้ปวด แพทย์อาจให้การรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น กายภาพบำบัด เทคนิคการผ่อนคลาย (relaxation technique) จิตบำบัด การกระตุ้นประสาทด้วยไฟฟ้า (TENS) การฉีดสารโบทูลิน (มีชื่อการค้า เช่น Botox) การฝังเข็ม เป็นต้น

4. ในรายที่มีอาการกำเริบ มากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ และแต่ละครั้งปวดนานมากกว่า 3-4 ชั่วโมง หรือปวดรุนแรง หรือต้องใช้ยาแก้ปวดบ่อยมาก แพทย์อาจพิจารณาให้กินยาป้องกัน ได้แก่ อะมิทริปไทลีน,ฟลูออกซีทีน หรือ โทพิราเมต ติดต่อกันนาน 1-3 เดือน

การดูแลตนเอง

ถ้ามั่นใจหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคปวดศีรษะจากความเครียด  ควรดูแลตนเองดังนี้

    นอนหลับหรือนั่งผ่อนคลายอารมณ์สักพักหนึ่ง นวดต้นคอและขมับด้วยมือหรือทานวดด้วยยาหม่อง ประคบด้วยความร้อนหรือความเย็น
    กินยาแก้ปวด - พาราเซตามอล* หรือยาที่แพทย์แนะนำ

ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะมาก อาเจียนมาก หรือมีไข้สูง
    ปวดถี่หรือปวดแรงขึ้นทุกวัน ปวดมากตอนดึกหรือเช้ามืดจนทำให้สะดุ้งตื่น
    มีอาการตาพร่ามัวไม่หาย หรือ ตาเห็นภาพซ้อน
    แขนขาชา อ่อนแรง เดินเซ หรือ ชักกระตุก
    มีความคิดฟุ้งซ่าน อารมณ์เครียดหรือซึมเศร้า หรือนอนไม่หลับ
    มีประวัติการแพ้ยา สตรีที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หรือมีโรคตับ โรคไต หรือประจำตัวอื่น ๆที่มีการใช้ยาหรือแพทย์นัดติดตามการรักษาอยู่เป็นประจำ
    หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
    ดูแลตนเอง 1 สัปดาห์แล้วไม่ทุเลา
    มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง

*เพื่อความปลอดภัย ควรขอคำแนะนำวิธีและขนาดยาที่ใช้ ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวังในการใช้ยา จากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก สตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือมีการใช้ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งใช้อยู่เป็นประจำ

การป้องกัน

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดศีรษะจากความเครียดเป็นประจำ ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน
    อย่าคร่ำเคร่งกับการงานจนเกินไป ควรพักทำงานเป็นระยะ ๆ
    หลีกเลี่ยงการใช้สายตาจนเมื่อยล้า ถ้าทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออ่านเอกสารหนังสือ ควรนั่งในท่าที่เหมาะสม ควรพักสายตาและเคลื่อนไหวหรือบริหารกล้ามเนื้อคอเป็นครั้งคราว
    อย่าปล่อยให้หิว หรือกินอาหารผิดเวลา
    ออกกำลังกายเป็นประจำ
    หาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น สวดมนต์ ทำสมาธิ ฝึกโยคะ รำมวยจีน ฟังเพลง เป็นต้น

ข้อแนะนำ

1. ปวดศีรษะจากความเครียด ถือเป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่อาจเป็น ๆ หาย ๆ ได้บ่อย อย่างไรก็ตาม ก่อนจะวินิจฉัยโรคนี้ ควรตรวจวัดความดัน และตรวจดูอาการให้ถ้วนถี่จนแน่ใจว่าไม่มีสาเหตุที่ร้ายแรงเสียก่อน

2. ปวดศีรษะจากความเครียด ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดตื้อ ๆ หนัก ๆ ที่ขมับ หน้าผาก กลางศีรษะหรือท้ายทอยทั้ง 2 ข้าง หรือทั่วศีรษะ หรือปวดรอบศีรษะคล้ายเข็มขัดรัด ปวดแบบคงที่และยังทำงานได้เป็นปกติ ไม่มีอาการปวดตุบ ๆ หรือคลื่นไส้อาเจียน

ประมาณร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยที่ปวดศีรษะจากความเครียด อาจมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวคล้ายไมเกรน (ซึ่งจะมีอาการปวดตุบ ๆ ที่ขมับ) ซึ่งบางครั้งอาจแยกกันไม่ชัด หรืออาจพบร่วมกัน ก็ควรให้การรักษาแบบไมเกรนไปพร้อมกันด้วย

3. ในรายที่เป็นเนื้องอกสมองระยะแรกอาจมีอาการปวดศีรษะไม่มาก คล้ายปวดศีรษะจากความเครียดก็ได้ แต่ต่อมาจะปวดถี่ขึ้นและแรงขึ้น มักจะปวดตอนดึกหรือเช้ามืดจนทำให้สะดุ้งตื่นทุกวัน และเป็นเรื้อรัง ดังนั้นถ้าพบคนที่มีอาการปวดศีรษะในลักษณะดังกล่าว หรือเป็น ๆ หาย ๆ นานเกิน 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์

4. ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หากมีอาการปวดศีรษะจากความเครียด อาจมีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กระดูกคอเสื่อม การบาดเจ็บที่ศีรษะหรือคอ การอยู่ในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น จึงควรค้นหาและแก้ไขภาวะเหล่านี้ พร้อมกันไปด้วย

5. การใช้ยาแก้ปวดในการรักษาโรคนี้บ่อยเกินไปอาจเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะจากการขาดยา (rebound headache) ได้ จึงควรระวังอย่าใช้ยามากเกิน และควรเน้นที่การปฏิบัติตัวต่าง ๆ

6. ผู้ที่เป็นโรคปวดศีรษะจากความเครียดชนิดเรื้อรัง อาจมีสาเหตุจากโรคซึมเศร้าแฝงเร้นอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจดูอาการของโรคซึมเศร้า และให้การรักษาภาวะนี้ร่วมไปด้วย