ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: ฝีในสมอง  (อ่าน 5 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 438
  • โพสประกาศขายในไทยฟรี
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: ฝีในสมอง
« เมื่อ: วันที่ 7 มกราคม 2025, 10:58:53 น. »
Doctor At Home: ฝีในสมอง

ฝีในสมองเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่แพร่กระจายเข้าสู่สมองผ่านทางบาดแผลบริเวณศีรษะหรือจากการติดเชื้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดเป็นหนองสะสมภายในสมอง ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์โดยเร็ว เพราะฝีในสมองอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้

โดยทั่วไป คนที่มีภูมิคุ้มกันปกติมักพบฝีในสมองจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอมักพบฝีในสมองจากเชื้อราได้ง่ายกว่าเชื้อชนิดอื่น ๆ โดยฝีชนิดนี้จะทำให้สมองบวม แรงดันภายในโพรงกะโหลกศีรษะเพิ่มสูงขึ้น และขัดขวางการไหลเวียนของเลือดที่เข้ามาเลี้ยงสมองด้วย หากผู้ป่วยไม่รีบรักษาอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต


อาการของฝีในสมอง

ผู้ป่วยที่มีฝีในสมองมักจะเกิดอาการอย่างช้า ๆ โดยอาจกินเวลานานหลายสัปดาห์ แต่บางรายก็อาจแสดงอาการอย่างฉับพลัน โดยตัวอย่างของอาการที่พบมีดังนี้

    ภาวะทางอารมณ์เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น รู้สึกสับสนมากขึ้น มีการตอบสนองหรือกระบวนการคิดที่ช้าลง ไม่มีสมาธิ ฉุนเฉียวง่าย ง่วงซึม เป็นต้น
    ความรู้สึกตัวลดลง
    มีปัญหาในการพูด พูดไม่ชัด
    สูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อ เคลื่อนไหวตัวได้น้อยลง แขนขาอ่อนแรง อัมพาตครึ่งซีก
    มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม
    การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป เช่น ดวงตาไวต่อแสง มองเห็นเป็นภาพเบลอหรือภาพซ้อนกัน มองเห็นเป็นสีเทา เป็นต้น
    มีไข้ หนาวสั่น
    อาเจียน
    ปวดศีรษะ
    คอแข็งเกร็ง มักพบร่วมกับมีไข้ หนาวสั่น
    ชัก
    ในผู้ป่วยเด็กทารกและเด็กเล็กอาจมีกระหม่อมบวม อาเจียนแบบพุ่ง ร้องไห้เสียงสูง แขนหรือขาเกร็ง


สาเหตุของฝีในสมอง

ฝีในสมองมักเป็นผลมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของสมอง ส่งผลให้เกิดการอักเสบและอาการบวม มีหนองเกิดขึ้นจากการสะสมของเซลล์สมองที่ติดเชื้อ เซลล์เม็ดเลือดขาว รวมถึงเชื้อโรคที่ตายแล้วหรือที่ยังมีชีวิต นอกจากนี้ เชื้อโรคที่ลามเข้าสู่สมองอาจมาจากการติดเชื้อที่แพร่กระจายผ่านกระแสเลือด เช่น การติดเชื้อที่ปอด หัวใจ ฟัน หรือผิวหนัง การติดเชื้อที่กระโหลกศีรษะอย่างหูชั้นกลางอักเสบหรือไซนัสอักเสบ หรืออาจเข้าสู่สมองโดยตรงผ่านบาดแผลจากการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือการผ่าตัดสมอง เป็นต้น

ทั้งนี้ คนบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อการเกิดฝีในสมองมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างผู้ป่วยโรคเอดส์หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างโรคมะเร็ง ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันอย่างยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไซนัสอักเสบหรือหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงหรือกะโหลกศีรษะแตกร้าว
 
การวินิจฉัยฝีในสมอง

เนื่องจากหลายอาการของฝีในสมองคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ ในเบื้องต้นแพทย์จะพิจารณาจากอาการที่เกิดขึ้น ประวัติทางสุขภาพ ตรวจหาการติดเชื้อผ่านการตรวจเลือด และตรวจร่างกายทางระบบประสาท เพื่อช่วยยืนยันอาการของภาวะแรงดันภายในกะโหลกศีรษะที่เพิ่มสูงขึ้นและปัญหาด้านการทำงานของสมอง

นอกจากนี้ อาจใช้วิธีตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมร่วมด้วย เช่น

    การตรวจจากภาพถ่ายด้วยการเอกซเรย์ การทำ CT Scan หรือ MRI Scan เพื่อช่วยให้เห็นภาพภายในสมองและตรวจหาจุดที่เป็นฝีได้อย่างชัดเจน
    การเจาะน้ำไขสันหลัง โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลังเพื่อตรวจหาความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากการติดเชื้อ แต่จะไม่ใช้วิธีนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการสมองบวม เพราะอาจทำให้แรงดันในสมองเปลี่ยนแปลงจนอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองหรือเส้นเลือดในสมองแตก
    การตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การตรวจคลื่นสมองไฟฟ้า EEG (Electroencephalogram) หรือการทดสอบหาแอนติบอดี เป็นต้น


การรักษาฝีในสมอง

ฝีในสมองรักษาได้ด้วยการรับประทานยาและการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ในโรงพยาบาลจนกว่าอาการจะคงตัว เนื่องจากหากแรงดันในสมองสูงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยการรักษาทั้ง 2 วิธีจะมีรายละเอียด ดังนี้


การใช้ยารักษา

ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะในการต้านเชื้อแบคทีเรียหรือต้านเชื้อราผ่านเข้าทางเส้นเลือด เพื่อรักษาอาการติดเชื้อที่เป็นต้นเหตุของฝีในสมอง โดยวิธีนี้จะใช้ในผู้ป่วยที่มีฝีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร มีฝีหลายตำแหน่ง ฝีเกิดลึกลงไปในสมอง ผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่มีฝีร่วมด้วย ผู้ป่วยภาวะโพรงสมองคั่งน้ำที่เคยเข้ารับการผ่าตัดใส่สายระบาย ผู้ป่วยเอดส์หรือติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นโรคท็อกโซพลาสโมซิส นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยาขับปัสสาวะและยาสเตียรอยด์บางชนิดเพื่อลดอาการบวมของสมองร่วมด้วย


การผ่าตัด

การผ่าตัดมักใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาแล้วฝีไม่เล็กลง ฝีมีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร ฝีที่อาจจะแตก ฝีที่เชื้อก่อโรคผลิตแก๊สร่วมด้วย แรงดันในสมองเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และมีอาการโดยรวมแย่ลงเรื่อย ๆ ซึ่งการผ่าตัดฝีในสมองมีอยู่หลายวิธี โดยอาจเป็นการเจาะกะโหลกศีรษะและใส่สายระบายหนองออกมา การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ หรือการใช้เข็มดูดหนองที่อยู่ลึกลงไปในสมอง จากนั้นจะนำหนองที่ดูดออกมาส่งไปตรวจหาสาเหตุในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะกับเชื้อโรคมากที่สุด

หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลนานหลายสัปดาห์และมีการตรวจติดตามอาการเป็นระยะ ๆ ด้วย CT Scan  เพื่อหาฝีที่อาจหลงเหลืออยู่ภายในสมอง เมื่อได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน ผู้ป่วยควรหยุดพักอยู่บ้านประมาณ 6-12 สัปดาห์ก่อนจะกลับไปทำงานหรือเรียนตามปกติ โดยควรระมัดระวังการกระทบกระเทือน การบาดเจ็บ หรืออุบัติเหตุที่ศีรษะมากเป็นพิเศษ


ภาวะแทรกซ้อนของฝีในสมอง

ผู้ป่วยฝีในสมองอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ สมองถูกทำลายโดยอาจทำให้มีอาการไม่รุนแรงไปจนถึงอาการรุนแรงอย่างพิการถาวร หากผู้ป่วยฝีในสมองไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสี่ยงต่อการเกิดสมองตายมากขึ้น เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก การติดเชื้อซ้ำ และชัก 


การป้องกันฝีในสมอง

โดยทั่วไป อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการเข้ารับการรักษาโรคติดเชื้อหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นต้นเหตุของการเกิดฝีในสมอง ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอาจรับประทานยาปฏิชีวนะตามคำแนะนำของแพทย์ก่อนการทำฟันหรือหัตถการใด ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงควรระมัดระวังอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ โดยอาจสวมหมวกกันน็อคและคาดเข็มขัดนิรภัยขณะใช้ยานพาหนะ หรือสวมอุปกรณ์ป้องกันตนเองในขณะเล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงกระแทก