จะเห็นได้ว่าเชื้อโควิด-19 มีการพัฒนาสายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นสายพันธุ์โอมิครอนในช่วงที่ผ่านมานี้ ซึ่งแพร่กระจายและติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น โดยเชื้อแพร่กระจายได้เร็วกว่าเดิม 3-4 เท่า ในต่างประเทศมีรายงานว่า อัตราการติดเชื้อของเด็กสูงขึ้นตามสัดส่วนของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น แต่ในประเทศไทยผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อยังอยู่ในสัดส่วนเดิม คือ 10 เปอร์เซนต์
อาการของเด็กหากติดเชื้อโอมิครอน และความจำเป็นในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19
หากเปรียบเทียบอาการของเด็กกับผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ดูเหมือนกับว่าผู้ใหญ่จะมีอาการน้อยกว่า เพราะความรุนแรงของโรคจะลดลงเมื่อได้รับวัคซีน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความรุนแรงของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนสำหรับเด็กนั้นค่อนข้างน้อย จากการศึกษาพบว่า แนวโน้มการติดเชื้อโอมิครอนในเด็กนั้นก็มีความรุนแรงไม่มาก
แต่ถึงกระนั้นแล้ว วัคซีนโควิด-19 ก็ยังมีความจำเป็นกับเด็ก เพราะเด็กๆ จำเป็นต้องไปโรงเรียน หากเด็กมีการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว จะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การได้รับวัคซีนจะทำให้การแพร่กระจายของโรคน้อยลงและสามารถควบคุมการระบาดได้ อีกทั้งในเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ ยิ่งจำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกัน เพราะหากมีการติดเชื้อจะทำให้มีอาการรุนแรงได้
สำหรับกลุ่มอาการ MIS-C ที่เกิดหลังจากที่เด็กติดโควิด-19 และก่อให้เกิดการอักเสบกับอวัยวะและระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย อันเนื่องมาจากระบบภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกตินั้น อาจทำให้มีอาการคล้ายโรคคาวาซากิ เช่น มีไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งหากอาการทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กกลุ่มอายุ 5 – 11 ปี
การวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กอายุ 5-11 ปี ได้ผลิตเสร็จสิ้นและมีการวางแผนที่จะเริ่มฉีดให้เด็กไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยวัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเช่นเดียวกันกับของผู้ใหญ่แต่จะมีปริมาณการฉีดที่น้อยกว่า โดยมีปริมาณเพียง 1 ใน 3 ที่ใช้ฉีดในเด็กกลุ่ม 12 – 18 ปีและในผู้ใหญ่เท่านั้น
ผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กอายุ 5-11 ปี
จากข้อมูลการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี ในกลุ่มตัวอย่าง พบว่ามีอาการรุนแรงหลังฉีดวัคซีนน้อยกว่าวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ และส่วนมากมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ อาจมีอาการหนาวสั่น ปวดข้อและกล้ามเนื้อ อาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นภายใน 24 - 48 ชั่วโมง และบางคนก็ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ
ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กกลุ่มนี้ จากการศึกษาพบว่ามีน้อยมาก โดยในเด็กผู้หญิงพบเพียง 2 คนในล้านคน ในเด็กผู้ชายพบเพียง 4 คนในล้านคน เท่านั้น
การเตรียมก่อนไปฉีดวัคซีนโควิด-19
เด็กๆ ควรเตรียมร่างกายให้แข็งแรง ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชม. ก่อนมารับวัคซีน และยังสามารถฉีดพร้อมวัคซีนตัวอื่นๆ ได้ ไม่ต้องเว้นระยะ ในส่วนของเด็กที่เคยติดโควิด-19 แล้วก็สามารถให้กระตุ้นวัคซีนโควิด-19 ได้ภายหลังจากที่หายเป็นปกติแล้ว 1 เดือน แต่สำหรับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 ในเด็กกลุ่ม 5 – 11 ปีนั้น ยังอยู่ในกระบวนการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปในเร็ววันนี้
ศูนย์ข้อมูลโควิด-19: วัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี อ่านบทเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/covid-19