ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemias)  (อ่าน 4 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 381
  • โพสประกาศขายในไทยฟรี
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemias)
« เมื่อ: วันที่ 18 พฤศจิกายน 2024, 16:47:57 น. »
หมอออนไลน์: มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemias)

มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลิวคีเมีย ก็เรียก) หมายถึง มะเร็งที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาววัยอ่อนในไขกระดูกมีการเจริญแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ และกลายเป็นเซลล์ผิดปกติ (ไม่สามารถเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวตัวแก่ที่ทำหน้าที่แบบเม็ดเลือดขาวปกติ และมีการแก่ตัวและเซลล์ตายช้ากว่าปกติ) สามารถแพร่กระจายแทรกซึมไปอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม กระดูก สมอง อัณฑะ ผิวหนัง รวมทั้งแทรกซึมในไขกระดูก ทำลายกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดในไขกระดูก ก่อให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จนเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้

มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีอยู่หลายชนิด โดยหลัก ๆ แบ่งเป็น ชนิดเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากเซลล์วัยอ่อน (blast cell) มีอาการเกิดขึ้นฉับพลัน ลุกลามรวดเร็วและรุนแรง และชนิดเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เริ่มเป็นตัวแก่ ลุกลามช้า และมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป

หากแบ่งตามชนิดของเซลล์ต้นกำเนิดของโรค สามารถแบ่งเป็นเซลล์ที่จะเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (lymphocyte) และเซลล์ที่จะเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดอื่น รวมทั้งเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด (myeloid cell/myelocyte)

มะเร็งเม็ดเลือดขาวจึงแบ่งเป็น 4 ชนิดใหญ่ ๆ  ได้แก่ acute lymphocytic (lymphoblastic) leukemia (ALL), acute myelogenous (myeloblastic) leukemia (AML), chronic lymphocytic leukemia (CLL) และ chronic myelocytic (myelogenous) leukemia (CML)

ทุกชนิดพบได้ในคนทุกวัย แต่อาจพบมากในเด็กหรือผู้ใหญ่แตกต่างกันดังนี้

    ชนิด ALL พบมากในเด็กอายุ 2-5 ปี (พบได้ถึงร้อยละ 80 ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก) อาจพบในผู้ใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุมากกว่า 65 ปี
    ชนิด AML เป็นมะเร็งเม็ดเลือดที่พบได้มากที่สุด พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
    ชนิด CLL พบบ่อยในผู้ใหญ่ และมีความชุกของโรคมากขึ้นตามอายุ พบมากในกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี
    ชนิด CML เป็นชนิดที่พบได้น้อย พบบ่อยในผู้ใหญ่อายุ 40-60 ปี พบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี

สาเหตุ

ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เชื่อว่ามีปัจจัยทางกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติร่วมกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น

    การมีกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติ เช่น พบว่าผู้ที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome) มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ALL และ AML มากกว่าคนปกติ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด CML พบว่ามีโครโมโซมผิดปกติ (เรียกว่า Philadelphia chromosome) หรือผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ALL ก็อาจเป็นโรคนี้ร่วมด้วย
    ผู้ที่มีประวัติได้รับรังสีบำบัดหรือเคมีบำบัดมะเร็งชนิดอื่นมาก่อน บางรายก็อาจพบว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเวลาหลายปีต่อมา
    ผู้ที่มีประวัติสัมผัสรังสีนิวเคลียร์ (เช่น ผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูหรืออุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์) หรือสารเบนซิน ก็พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป
    การสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด AML
    ผู้ที่มีประวัติมะเร็งเม็ดเลือดขาวในครอบครัวมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าปกติ

อาการ

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (ALL และ AML) มักมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันด้วยอาการไข้ ซีดหรือมีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้นตามตัว หรือมีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ประจำเดือนออกมากผิดปกติ ถ่ายเป็นเลือด

บางรายอาจมีอาการไข้ ปวดเมื่อย คล้ายไข้หวัดใหญ่ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด อาจเป็นไข้เรื้อรังเป็นแรมเดือน หรืออาการหนาวสั่น มีแผลเปื่อยในปาก ทอนซิลอักเสบ หรือปอดอักเสบเนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ

อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการมีจ้ำเขียวตามตัว หรือมีเลือดกำเดาไหลซึ่งหยุดยากเนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำ

ในระยะต่อมามักมีอาการซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อาจมีอาการทางสมอง (เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาเจียน ชัก ตามัว) อาการแน่นท้อง ปวดท้อง เนื่องจากตับโต ม้ามโต

บางรายอาจมีอาการเฉพาะที่ เช่น ปวดกระดูกและข้อ ตาโปน เหงือกบวม เป็นต้น

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (CLL และ CML) ในระยะแรก ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ซึ่งอาจเป็นอยู่นานเป็นแรมปีและมักจะตรวจเช็กเลือดพบว่าเป็นโรคนี้โดยบังเอิญ

ในรายที่มีอาการ (ซึ่งมักเป็นโรคในระยะหลัง ๆ แล้ว) จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน รู้สึกแน่นท้องเนื่องจากม้ามโต

ต่อมาจะมีอาการซีด มีจ้ำเขียวตามตัวหรือเลือดออกง่าย ปวดกระดูกและข้อแบบเดียวกับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน

ในระยะท้าย มักมีโรคติดเชื้อง่าย อาจเกิดจากไวรัส (ที่พบบ่อยคืองูสวัด) แบคทีเรีย (เช่น สูโดโมแนส เคลบซิลลา) หรือเชื้อรา (เช่น แคนดิดา แอสเปอร์จิลลัส) ก็ได้

ภาวะแทรกซ้อน

ที่พบบ่อย ได้แก่ การตกเลือด และการติดเชื้อแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้ ก็คือภาวะโลหิตเป็นพิษ เลือดออกในสมอง

ในรายที่เป็น AML และ acute promyelocytic leukemia อาจเกิดภาวะเลือดจับเป็นลิ่มทั่วร่างกาย (disseminated intravascular coagulation/DIC) เป็นอันตรายร้ายแรงได้

ในรายที่เป็นชนิด ALL อาจมีต่อมไทมัสโตกดท่อลม (ทำให้หายใจลำบาก) หรือท่อเลือดดำส่วนบน หรือ superior vena cava (ทำให้คอและแขนบวม)

ในรายที่เป็นชนิด CLL อาจกลายเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดร้ายแรง หรือมีโรคมะเร็งปอด ลำไส้ หรือผิวหนังเกิดตามมา และอาจก่อเกิดปฏิกิริยาภูมิต้านตัวเอง (autoimmune) ต่อเม็ดเลือดแดงหรือเกล็ดเลือดได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน มักตรวจพบอาการไข้ ซีด จุดแดงจ้ำเขียว เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ตับโต ม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่ง (บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ)

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง ในระยะแรก ๆ อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน ต่อมาอาจพบอาการไข้ ม้ามโต และอาการแบบเดียวกับชนิดเฉียบพลัน

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาวมีจำนวนมาก อาจเป็นหลายหมื่นถึงหลายแสนตัวต่อเลือด 1 ลบ.มม. (ปกติจะมี 5,000-10,000 ตัว/ลบ.มม.) และพบเป็นเซลล์วัยอ่อนมากกว่าปกติ นอกจากนี้ อาจพบจำนวนเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ

แพทย์มักทำการตรวจไขกระดูก ซึ่งพบเซลล์วัยอ่อนจำนวนมาก

ในรายที่เป็นชนิดเฉียบพลัน แพทย์อาจทำการตรวจวิเคราะห์ทางกรรมพันธุ์ (cytogenetic analysis) ซึ่งสามารถนำไปพยากรณ์โรค

นอกจากนี้จะประเมินระยะของโรคด้วยการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม


การรักษาโดยแพทย์

นอกจากให้การรักษาตามอาการและแก้ไขภาวะแทรกซ้อน (เช่น ให้เลือด ให้ยาต้านจุลชีพรักษาโรคติดเชื้อ) แล้ว การรักษาที่จำเป็นและมีผลต่อการควบคุมโรคก็คือ การให้ยารักษามะเร็งหรือเคมีบำบัด (chemotherapy)

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกราย* ในปัจจุบันมียาเคมีบำบัดอยู่หลายกลุ่ม ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับชนิดและความรุนแรงของโรค อาจใช้เพียงกลุ่มเดียวหรือร่วมกันอย่างน้อย 2 กลุ่มขึ้นไป

นอกจากนี้ยังมีการรักษาโรคนี้ด้วยยาอื่น อาทิ อิมมูนบำบัด (immunotherapy) เช่น การฉีดลิมโฟไซต์ที่รับบริจาค (donor lymphocyte infusion) การใช้สารอินเตอร์เฟอรอน (interferon) หรืออินเทอร์ลิวคิน 2 (Interleukin-2) เป็นต้น, การรักษาแบบมุ่งเป้า (targeted therapy) ด้วยยากลุ่ม monoclonal antibody (เช่น rituximab) หรือยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส (tyrosine kinase inhibitor) (เช่น imatinib, nilotinib, dasatinib)

ในรายที่มีก้อนบวมมาก เพราะเซลล์มะเร็งสะสม เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต ตับโต ม้ามโต ก้อนที่อัณฑะ อาจจำเป็นต้องทำการฉายรังสี (รังสีบำบัด) ร่วมด้วย

ในบางรายแพทย์อาจพิจารณาทำการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด** โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีการเกิดโรคกลับ (relapse) หลังจากให้เคมีบำบัดจนโรคสงบ (remission) ไประยะหนึ่งแล้ว

ผลการรักษา ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค สภาพของผู้ป่วย และการตอบสนองต่อการรักษา

ในปัจจุบันด้วยวิธีรักษาใหม่ ๆ เช่น การใช้ยารักษาแบบมุ่งเป้า (targeted therapy), การปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิด ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวหายขาดหรือมีชีวิตที่ยืนยาวได้

* ยกเว้นผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CLL ซึ่งในระยะแรกจะไม่มีอาการ และโรคจะค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ แพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคอง และเฝ้าติดตามดูอาการอย่างต่อเนื่อง จะเริ่มให้เคมีบำบัดเมื่อผู้ป่วยมีอาการชัดเจนหรือมีการติดเชื้อซ้ำซาก เนื่องเพราะขณะไม่มีอาการ การให้เคมีบำบัดมีผลข้างเคียงซึ่งอาจไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ

** โดยใช้ไขกระดูก/เซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดของผู้บริจาค (เรียกว่า allogenetic bone-marrow/stem cell transplantation) หรืออาจใช้ไขกระดูก/เซลล์ต้นกำเนิดของผู้ป่วยเอง (เรียกว่า autologous bone-marrow/stem cell transplantation) ซึ่งจะเก็บไขกระดูก/เซลล์ต้นกำเนิดขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในระยะโรคสงบไว้ใช้ในภายหลัง ปัจจุบันนิยมทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดมากกว่าไขกระดูก เนื่องเพราะใช้เวลาฟื้นตัวสั้นกว่า และมีการติดเชื้อน้อยกว่า การรักษาโดยวิธีนี้ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น หรือหายขาดจากโรคได้


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีไข้เรื้อรัง มีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ (เช่น มีเลือดกำเดาออก เลือดออกตามไรฟัน ประจำเดือนออกมากผิดปกติ) ซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย แน่นท้องเรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลำได้ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
    ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
    ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
    ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
    ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
    ขาดยาหรือยาหาย
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ สารเบนซิน เป็นต้น อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคนี้

ควรป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม โดยการไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ เมื่อสังเกตว่ามีอาการที่น่าสงสัย

ข้อแนะนำ

1. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวไม่ใช่โรคติดต่อ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือเป็นญาติพี่น้องกับผู้ป่วยไม่ต้องกลัวว่าจะติดโรคจากผู้ป่วย

2. การรักษากับแพทย์ในโรงพยาบาลให้ผลดีมากกว่าการไม่รักษา ผู้ป่วยควรมีกำลังใจเข้ารับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องตามที่แพทย์นัด และอดทนต่อผลข้างเคียงของการใช้ยาเคมีบำบัด (เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร) ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งมักเป็นเพียงชั่วคราว

3. ในปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ ๆ (ซึ่งใช้สะดวก ได้ผลดี และมีผลข้างเคียงน้อย) และการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น หรือบางรายอาจหายขาดได้