จากสถิติล่าสุดมีคนไทยเป็นโรคไต เกือบ 8 ล้านคน เท่ากับ ในคนไทย 8 คนพบป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง 1 คน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง สาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีสถิติผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน ผลที่ตามมาคือมีภาวะไตเสื่อมและไตเสื่อมเร็วขึ้น หากปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง และเป็นผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย 2 แสนคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงมาก
แล้วอาการของโรคไตมีอะไรบ้าง รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขมสรุปเป็นหัวข้อง่าย ๆ เพื่อให้ทุกคนสังเกตอาการกันได้อย่างถูกต้อง
อาการของโรคไต
เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่ไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาสมบูรณ์ได้ การเกิดความผิดปกติกับไตจึงเป็นเรื่องอันตราย โดยในช่วงแรกผู้ป่วยโรคไตแทบจะไม่มีสัญญาณของโรคร้ายนี้เลย แต่อาการจะปรากฏออกมาในระยะท้าย ๆ ที่ไตได้รับความเสียหายไปมากแล้ว จนในระดับสูงสุดอาจเกิดอาการไตวาย และเสียชีวิตได้ อาการของผู้ป่วยโรคไตที่ปรากฏมีดังนี้
อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย
มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ
ปัสสาวะผิดปกติ เช่น มีกลิ่นผิดปกติ มีสีผิดปกติ เป็นต้น
ปวดศีรษะ
คลื่นไส้ อาเจียน
มีอาการเบื่ออาหาร
ตัวบวม หรือเท้าบวมเนื่องจากมีน้ำและเกลือในร่างกายปริมาณมาก หรือความสมดุลระหว่างน้ำและเกลือแร่ในร่างกายเสียไป ขอสังเกตคือบวมจนกดแล้วเนื้อบุ๋ม หรืออาจจะบวมที่หนังตา
น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว
อาจจะมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น หมดสติ เป็นลม
ปวดหลัง ปวดบั้นเอว
ถ้าไตเสื่อมจนถึงการผลิตฮอร์โมนแย่ลง อาจเกิดภาวะซีด
โรคไตแบ่งออกเป็นกี่ระยะ มีอะไรบ้าง
โรคไตวายจะแบ่งหลัก ๆ ออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. โรคไตวายเฉียบพลัน จะเป็นขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน ส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะเวลา 3 เดือน เช่น เสียเลือดมาก ได้รับสารพิษ หรือได้รับยาบางชนิด หากเป็นไตวายแบบเฉียบพลัน ยังมีโอกาสที่ไตจะสามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้
2. โรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจาก โรคเบาหวาน ความดัน หรือเกิดจากโรคไตวายเฉียบพลันแต่ไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ใน 3 เดือน ก็จะทำให้เข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 5 ระยะ
ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ไตเริ่มเสื่อม (มีโปรตีนในปัสสาวะ) ค่าการทำงานของไต หรือ ค่า GFR ปกติ ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 90 หรือมากกว่า
ระยะที่ 2 ไตเสื่อม ค่าการทำงานของไต หรือ ค่า GFR ลดลงเล็กน้อย ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 60-89
ระยะที่ 3 ค่าการทำงานของไต หรือ ค่า GFR ลดลงปานกลางซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 30-59
ระยะที่ 4 ค่าการทำงานของไต หรือ ค่า GFR ลดลงมาก ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 15-29
ระยะที่ 5 เข้าสู่ภาวะไตวาย ค่าการทำงานของไต หรือ ค่า GFR น้อยกว่า 15
ค่าการทำงานของไตจะบ่งบอกให้แพทย์ทราบได้ว่าไตทำงานได้มากน้อยเพียงใด เมื่ออาการโรคไตยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ค่าการทำงานของไต GFR ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน
ซึ่งการที่จะรู้ว่าผู้ป่วยมีอาการโรคไตเรื้อรังระยะไหน ต้องทำการตรวจคัดกรองโรคไต โดยแพทย์จะทำการตรวจที่เฉพาะเจาะจงเพิ่มขึ้นเพื่อวางแผนการรักษา โดยจะตรวจดังต่อไปนี้
ตรวจปัสสาวะ เพื่อทดสอบระดับอัลบูมินในปัสสาวะ รวมถึงตรวจความผิดปกติของปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นฟอง
การตรวจเลือด เพื่อหาค่า Creatinine เพื่อคำนวณค่าการทำงานของไต ซึ่งเป็นวิธีที่ดีในการบ่งบอกว่าไตยังทำงานได้มากน้อยเพียงใด เพื่อให้แพทย์ทราบได้ถึงระยะของโรคไตและช่วยในการวางแผนการรักษา
ตรวจหาแร่ธาตุและสารละลายในเลือด
ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เนื่องจากผู้ที่มีภาวะไตเสื่อมจะมีภาวะโลหิตจาง
ตรวจหาค่าน้ำตาลสะสม เนื่องจากสาเหตุสำคัญอีกประการที่ทำให้ไตเสื่อม คือเบาหวาน
ทำการตรวจอัลตราซาวนด์หรือ CT Scan เพื่อถ่ายภาพไตและทางเดินปัสสาวะ เพื่อพิจารณาขนาดของไต ตรวจหาก้อนนิ่วหรือเนื้องอก และดูว่ามีปัญหาอะไรเกี่ยวกับโครงสร้างของไตและทางเดินปัสสาวะหรือไม่
การตัดชิ้นเนื้อไตส่งตรวจ ซึ่งจะทำในบางกรณีเท่านั้นในการตรวจดูประเภทของโรคไตที่เฉพาะเจาะจง ดูว่าไตถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใดและช่วยในการวางแผนการรักษา ในการตัดชิ้นเนื้อนั้น แพทย์จะนำเนื้อเยื่อเล็กๆ ของไตส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์
อาการโรคไต มีอะไรบ้าง? อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/298