ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจโรคหมดสติ (Coma)  (อ่าน 144 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 427
  • โพสประกาศขายในไทยฟรี
    • ดูรายละเอียด
ตรวจโรคหมดสติ (Coma)
« เมื่อ: วันที่ 15 มิถุนายน 2024, 21:10:06 น. »
ตรวจโรคหมดสติ (Coma)

อาการหมดสติ ถือเป็นภาวะร้ายแรง ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที มักจะตายได้รวดเร็ว


สาเหตุ

มีสาเหตุได้มากมาย (ตรวจอาการ "หมดสติ" เพิ่มเติม) เช่น ศีรษะได้รับบาดเจ็บ จมน้ำ ไฟฟ้าช็อต กินยาพิษ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ มาลาเรียขึ้นสมอง หลอดเลือดฝอยในสมองแตก ตับแข็ง เบาหวาน ภาวะไตวาย เป็นต้น

ผู้ป่วยมักมีประวัติได้รับอุบัติเหตุ ตั้งใจกินยาหรือเสพยาเกินขนาด หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ก่อนที่จะมีอาการหมดสติ


อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการหมดสติและหมดความรู้สึกทุกอย่าง ปลุกอย่างไรก็ไม่ยอมตื่น

นอกจากนี้ยังอาจมีอาการหายใจไม่ปกติ (เช่น หอบ หายใจขัด) อาจมีอาการอัมพาตของแขนขา ปากเบี้ยว ตัวเกร็ง ชักกระตุก คอแข็ง หรือมีไข้สูง

ถ้าเป็นรุนแรง อาจหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น

ภาวะแทรกซ้อน

ขณะเป็นลมหมดสติ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ ทำงานกับเครื่องจักร หรือว่ายน้ำ เป็นอันตรายได้ หรืออาจล้มฟุบ หรือตกจากที่สูง ได้รับบาดเจ็บ เช่น บาดแผล กระดูกหัก ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย (รวมทั้งทำการตรวจดูรูม่านตา ดูขนาดรูม่านตา และปฏิกิริยาการตอบสนองต่อแสง)

แพทย์จะทำการวินิจฉัยสาเหตุให้แน่ชัดโดยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ คลื่นไฟฟ้าสมอง เอกซเรย์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์

เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ แพทย์จะทำการปฐมพยาบาล ทำการกู้ชีพ (CPR) ในรายที่หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น แล้วส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที

แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ทำการตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ให้ยาต้านจุลชีพรักษาโรคติดเชื้อ ให้ยารักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ยาต้านพิษ ผ่าตัดสมอง เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็จะรีบช่วยชีวิตผู้ป่วย เช่น ใช้เครื่องช่วยหายใจ (อาจจำเป็นต้องเจาะคอถ้าอยู่โรงพยาบาลนานวัน) ให้น้ำเกลือ ให้ออกซิเจน ให้เลือดถ้าเสียเลือด ล้างท้องถ้าเกิดจากการกินสารพิษ เป็นต้น

ผลการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ถ้ามีสาเหตุที่แก้ไขได้และได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องได้ทันท่วงที ก็มีโอกาสรอดชีวิตและฟื้นหายเป็นปกติได้ แต่ถ้ามีสาเหตุที่ยุ่งยากซับซ้อนหรือได้รับการดูแลรักษาเนิ่นช้าเกินไป ก็มีโอกาสเสียชีวิตหรือพิการ

การดูแลตนเอง

หากพบผู้ป่วยมีอาการหมดสติ ควรทำการปฐมพยาบาล และรีบพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว

ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด

ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด

การปฐมพยาบาลผู้ที่หมดสติ

1. ตรวจสอบถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือในที่เกิดเหตุ (เช่น กรณีผู้ป่วยถูกไฟฟ้าช็อต ให้ทำการตัดกระแสไฟฟ้าก่อนเข้าไปช่วยเหลือ) เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังจุดที่ปลอดภัยตามความจำเป็น (เช่น ย้ายจากกลางถนนไปที่ริมถนน) จับผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นแข็ง ๆ เช่น พื้นห้องหรือกระดานแข็ง แล้วปลดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้หลวม

2. ใช้มือตบที่บ่า 2 ข้าง 3 ครั้ง และปลุกเรียกดัง ๆ ถ้าไม่ตอบสนอง ให้รีบประเมินว่าผู้ป่วยหายใจหรือไม่ (โดยดูการขยับขึ้นลงของหน้าอกและท้อง ใช้หลังมือวางชิดรูจมูก สัมผัสดูว่ามีลมหายใจหรือไม่) ถ้าไม่หายใจ หายใจพะงาบ ๆ หรือไม่แน่ใจว่ามีการหายใจ ให้ทำการกู้ชีพ (CPR) ทันที โดยรีบตะโกนเรียกขอความช่วยเหลือ โทรแจ้ง 1669 เรียกรถพยาบาลฉุกเฉินทันที (ให้เปิดสัญญาณมือถือและลำโพงไว้ติดต่อสื่อสารกันตลอดเวลา)

3. ทำการกู้ชีพ (CPR) ด้วยการกดหน้าอก (นวดหัวใจ) โดยปฏิบัติ ดังนี้

    นั่งคุกเข่าข้างตัวผู้ป่วย ทำการกดหน้าอก (นวดหัวใจ) ด้วยอัตรา 100-120 ครั้งต่อนาที โดยมีวิธีกดหน้าอกแตกต่างตามอายุ ดังนี้

- อายุมากกว่า 8 ปี วางส้นมือข้างหนึ่งไว้ตรงกลางอก (ตรงจุดกึ่งกลางระหว่างหัวนม 2 ข้าง) มืออีกข้างวางทาบหรือประสานไปบนมือแรก เหยียดแขนตรง (อย่างอแขน) ตั้งฉากกับผู้ป่วย โน้มตัวให้หัวไหล่อยู่เหนือตัวผู้ป่วย ทำการกดหน้าอกโดยการทิ้งน้ำหนักในทิศทางที่แรงกดดิ่งตรงลงไปที่กระดูกหน้าอก ทำให้กระดูกหน้าอกยุบลงอย่างน้อย 5-6 ซม. แล้วคลายมือให้สุดเพื่อให้หน้าอกคืนตัวสู่ตำแหน่งปกติ แล้วจึงค่อยกดครั้งต่อไป ทุกครั้งที่กดและคลายมือ ให้มือแตะอยู่กับหน้าอก และไม่ให้เคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม
- อายุ 1-8 ปี ทำการกดหน้าอกในทำนองเดียวกับข้างต้น แต่ให้ใช้ส้นมือเพียงข้างเดียว โดยขณะกดให้แขนเหยียดตรง ให้มีแรงกดที่ทำให้กระดูกหน้าอกยุบลงประมาณ 1 ใน 3 ของความลึกของหน้าอก ส่วนมือที่ว่างอีกมือหนึ่งวางบริเวณหน้าผากของเด็ก ดันหน้าผากให้หน้าของเด็กเชยคางขึ้นเพื่อให้เปิดทางเดินหายใจ
- ทารก (อายุต่ำกว่า 1 ปี) ให้ใช้นิ้ว 2 นิ้ว (นิ้วชี้กับนิ้วกลาง) กดตรงกลางหน้าอกแทนการใช้มือ กดให้กระดูกหน้าอกยุบลงประมาณ 1 ใน 3 ของความลึกของหน้าอก

4. ทำการกดหน้าอกต่อเนื่องไปไม่หยุด นาน 2 นาที ก็เปลี่ยนให้คนใหม่ทำต่อ อย่าหยุดกดหน้าอกเกิน 10 วินาที ผู้ช่วยเหลือสลับกันกดหน้าอกไปเรื่อย จนกระทั่งทีมกู้ชีพมาถึง หรือสังเกตเห็นผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวแขนขาและหายใจได้เอง (ในกรณีหลังควรจับผู้ป่วยนอนในท่าพักฟื้น และเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากหยุดหายใจให้ทำการกดหน้าอกต่อ)

5. หากมีเครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ (automatic external defibrillator/AED) เมื่อนำมาเปิดเครื่องพร้อมใช้งาน ให้หยุดกดหน้าอก แล้วรีบใช้เครื่องนี้กระตุ้นหัวใจทันที เสร็จแล้วจึงค่อยทำการกดหน้าอก (นวดหัวใจ) ต่อไป

หมายเหตุ
1. เมื่อพบว่าผู้ป่วยหมดสติและไม่หายใจ จะต้องลงมือทำการกดหน้าอกทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาในการตรวจชีพจรดูว่าหัวใจหยุดเต้นหรือไม่ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมเรื่องการกู้ชีพ ให้ทำการกู้ชีพด้วยการกดหน้าอกเพียงอย่างเดียว

  2. สำหรับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมเรื่องการกู้ชีพ ให้ทำการกดหน้าอกสลับกับการเป่าปาก โดยกดหน้าอก 30 ครั้งในอัตรา 2 ครั้งต่อวินาที (30 ครั้งในเวลา 15-17 วินาที) แล้วทำการเป่าปาก 2 ครั้งในเวลา 3 วินาที

การป้องกัน

ควรป้องกันไม่ให้เกิดอาการหมดสติ ด้วยการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหรือโรคที่เป็นต้นเหตุของอาการหมดสติ (เช่น การบาดเจ็บรุนแรง การป่วยเป็นโรคเรื้อรังหรือร้ายแรงต่าง ๆ)

หากมีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น) ควรรักษาอย่างจริงจัง

ข้อแนะนำ

อาการหมดสติ มักเป็นผลแทรกซ้อนที่อันตรายร้ายแรงของการเจ็บป่วยต่าง ๆ เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ ญาติหรือผู้ที่พบเห็นควรให้การปฐมพยาบาลทันที และนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที (ทางที่ดีควรโทรศัพท์ติดต่อขอรถของโรงพยาบาลหรือหน่วยกู้ชีพ) เมื่อถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการช่วยชีวิต ทำการตรวจหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุที่พบ