ผู้เขียน หัวข้อ: โรคหัวใจขาดเลือด (Heart attack)  (อ่าน 65 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 457
  • โพสประกาศขายในไทยฟรี
    • ดูรายละเอียด
โรคหัวใจขาดเลือด (Heart attack)
« เมื่อ: วันที่ 4 พฤศจิกายน 2024, 13:19:31 น. »
โรคหัวใจขาดเลือด (Heart attack)

หัวใจขาดเลือด (Heart attack) หรือหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คือภาวะที่หัวใจขาดเลือดและออกซิเจนที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจถูกปิดกั้นจากคราบพลัค (Plaque) เมื่อเลือดถูกปิดกั้น อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพและตายลง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

หัวใจขาดเลือดเป็นอาการอันตรายที่ควรใส่ใจ และควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน หากมีสัญญาณของโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เช่น แน่นหรือเจ็บหน้าอก หายใจถี่หรือสั้นกว่าปกติ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์หรือโทรเรียกหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เพราะยิ่งรักษาได้เร็ว ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตมากขึ้น

สาเหตุของหัวใจขาดเลือด

หัวใจขาดเลือดอาจเกิดขึ้นเลือดที่จะไหลเวียนไปยังหัวใจถูกขัดขวาง เมื่อหัวใจไม่ได้รับเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงอย่างเหมาะสม กล้ามเนื้อหัวใจอาจเสื่อมสภาพและเริ่มตาย หากไม่ได้รับการรักษา หัวใจอาจหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุด

โดยโรคหัวใจขาดเลือดอาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

    ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีลักษณะ ST Segment (STEMI) เกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันบางส่วนหรือถูกอุดตันทั้งหมด
    ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดไม่พบ ST Segment Elevation (NSTEMI) มักเกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือหลอดเลือดหัวใจอุดตันบางส่วนหรือถูกอุดตันทั้งหมด
    ภาวะเจ็บหน้าอกชนิดไม่คงที่ (Unstable Angina) โดยอาจพบอาการโรคหัวใจขาดเลือด แต่อาจยังไม่เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันอยู่

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่อาจทำให้เลือดอุดตัน และไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้อย่างเพียงพอ อาจมีดังนี้

    โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) เป็นภาวะหลอดเลือดแดงแข็งที่เกิดจากคราบพลัคที่เกิดขึ้นภายในหลอดเลือด เมื่อสะสมมาก ๆ เข้าก็จะอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจ และทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด
    โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของคราบพลัค เช่น คอลเลสเตอรอล ไขมัน เม็ดเลือด และสารอื่น ๆ บริเวณผนังหลอดเลือด ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดตีบ และเลือดสูบฉีดเลือดได้น้อยลง
    ภาวะหลอดเลือดหัวใจหดตัวอย่างรุนแรง (Coronary Artery Spasm) เกิดขึ้นจากการที่หลอดเลือดหัวใจโคโรนารีหดตัวอย่างรุนแรงจนทำให้การไหลเวียนเลือดไปยังหัวใจถูกตัดขาด
    ภาวะขาดออกซิเจนในเลือด (Hypoxia) เมื่อระดับออกซิเจนในเลือดลดลงเนื่องจากได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป อาจทำให้หัวใจไม่ได้รับเลือดที่มีออกซิเจนอย่างเต็มที่ กล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย และเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในที่สุด

ทั้งนี้ โรคหัวใจขาดเลือดอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีความเสี่ยงสุขภาพต่าง ๆ เช่น

    พันธุกรรม หากมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคหัวใจ ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมากขึ้น
    ภาวะคอเลสเตอรอลสูง หากมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีสูง อาจเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแดงแข็ง และทำให้หลอดเลือดหัวใจอุดตันได้
    ความดันโลหิตสูง อาจทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น และทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติจนเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจวาย และโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
    โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน อาจทำให้ร่างกายเกิดการสะสมไขมันในร่างกายมากผิดปกติ จนก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจ
    โรคเบาหวาน หากผู้ป่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และความเสี่ยงจะยิ่งมากขึ้นหากผู้ป่วยมีโรคอ้วน
    การติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคปริทันต์อักเสบหรือการติดเชื้อที่ฟัน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้
    การสูบบุหรี่ สารเคมีในบุหรี่อาจทำให้ผนังหลอดเลือดหนา และทำให้หลอดเลือดตีบหรือถูกอุดกั้น จึงทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดสูง
    การไม่ออกกำลังกายเป็นเวลานานหรือมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ผู้ที่ไม่ค่อยได้ขยับตัวอาจทำให้ไขมันสะสมตัวและอุดกั้นเส้นเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือดได้

นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตอื่น ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้เช่นกัน เช่น ความเครียด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารแปรรูป หรืออาหารรสจัด

อาการหัวใจขาดเลือด

อาการที่มักพบได้ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่

    รู้สึกแน่นและเจ็บหน้าอก และอาจลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายท่อนบนด้านซ้าย ได้แก่ บริเวณกราม คอ หลังหน้าท้อง และแขนส่วนบน โดยอาการอาจจะเกิดขึ้นไม่กี่นาทีแล้วหาย แต่จากนั้นอาจกลับมาเป็นอีกครั้ง
    หายใจถี่หรือหายใจสั้น
    วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
    เหงื่อออกขณะที่ร่างกายเย็น
    รู้สึกวิตกกังวลมากผิดปกติ
    ไอ หรือหายใจมีเสียงหวีด
    มีอาการเหนื่อยมากผิดปกติโดยไม่มีสาเหตุ

อาการหัวใจขาดเลือดที่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการเข้าข่ายโรคหัวใจขาดเลือด ควรรีบไปพบแพทย์หรือโทรขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที เนื่องจากโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเป็นอาการอันตรายที่อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาในทันที


การวินิจฉัยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

แพทย์อาจวินิจฉัยหัวใจขาดเลือดด้วยการตรวจร่างกาย และการซักประวัติถึงอาการ หรือการรักษาต่าง ๆ ที่จำเป็นในการวินิจฉัย และอาจมีการถามถึงประวัติครอบครัวว่ามีใครเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือไม่ จากนั้นแพทย์จะทำการสั่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีดังต่อไปนี้


การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG)

การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นวิธีที่ใช้บ่อย โดยแพทย์จะติดแผ่นประจุไฟฟ้าไว้ที่แขน ขา และหน้าอก จากนั้นจะวัดคลื่นไฟฟ้าเพื่อตรวจอัตราการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่

วิธีการตรวจนี้อาจช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และระบุประเภทของโรคนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้แพทย์ได้ทำการรักษาต่อไป

การตรวจเลือด

การตรวจเลือดเป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่ช่วยระบุโรคหัวใจขาดเลือดได้ เพราะเมื่อเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด อาจส่งผลให้มีโปรตีนแปลกปลอมจากเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่ตายรั่วไหลลงไปในกระแสเลือดมากกว่าปกติ ยิ่งมีโปรตีนเจือปนในเลือดมากเท่าใด ก็ยิ่งบ่งบอกว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยแพทย์อาจเจาะเลือดเพื่อตรวจดูโปรตีนแปลกปลอม เช่น

    การตรวจหาคาร์ดิแอค โทรโปนิน (Cardiac Troponin) เป็นการตรวจหาโปรตีนในเซลล์ที่ช่วยระบุภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเนื่องจากหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
    การตรวจหาครีเอตินไคเนส-เอ็มบี (CK-MB) การตรวจเพื่อหาเอนไซม์ในเลือด ซึ่งจะรั่วลงมาในเลือดเมื่อเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย


การใส่สายสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography)

แพทย์อาจฉีดสารทึบสีเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ เพื่อตรวจดูความผิดปกติของหัวใจขาดเลือด จากนั้นแพทย์จะทำการเอกซเรย์เพื่อดูว่ามีส่วนใดของหลอดเลือดอุดตันหรือตีบบ้างหรือไม่ หากพบความผิดปกติ แพทย์จะรักษาด้วยสอดสายสวนเพื่อเปิดทางให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)

การตรวจหาความผิดปกติของหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงเข้าไปกระทบหัวใจออกมาเป็นภาพให้เห็น ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เห็นความเสียหายของหัวใจที่เกิดจากการขาดเลือดได้


การทำซีที สแกน (CT Scan) หรือการทำเอ็มอาร์ไอ (MRI)

แพทย์อาจใช้การตรวจซีที สแกน (CT Scan) หรือการทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และตรวจดูความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจว่ามีความรุนแรงเท่าใด เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป


การรักษาหัวใจขาดเลือด

หัวใจขาดเลือดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนจากแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยไม่สามารถรักษาหัวใจขาดเลือดเองด้วยการใช้สมุนไพรต่าง ๆ หรือใช้เข็มจิ้มปลายนิ้ว เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

โดยควรรักษาหัวใจขาดเลือดภายใน 30–60 นาทีหลังจากเกิดอาการ เพราะยิ่งรักษาเร็วเท่าไรก็อาจช่วยยับยั้งความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ และช่วยให้พ้นขีดอันตรายได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเกิดอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แพทย์อาจทำการรักษาด้วยวิธีเบื้องต้น ดังนี้

    ให้ยาแอสไพรินเพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือด
    ให้ยาไนโตรไกลเซอริน (Nitroglycerin) เพื่อลดการทำงานของหัวใจ และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
    ให้ออกซิเจน และรักษาอาการแน่นหรือเจ็บหน้าอก

เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป เช่น


การใช้ยา

แพทย์อาจพิจารณาการใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง หรืออาจใช้ยาหลายตัวร่วมกันเพื่อรักษาอาการหัวใจขาดเลือด โดยยาที่มักใช้ได้แก่

    ยาแอสไพริน เป็นยาที่แพทย์นิยมใช้เพื่อรักษาอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในเบื้องต้น โดยยาชนิดนี้จะช่วยลดลิ่มเลือดและทำให้เลือดสามารถไหลเวียนภายในหลอดเลือดที่แคบได้
    ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytics) เป็นยาที่ช่วยละลายลิ่มเลือดที่อุดกั้นการไหลเวียนเลือด หากผู้ป่วยได้รับยาชนิดนี้ภายในระยะเวลาไม่นานหลังจากเริ่มเกิดอาการ อาจช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสียหายของหัวใจได้
    ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet) คือยาที่ใช้ในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และป้องกันไม่ให้ลิ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้มากขึ้น
    ยาระงับอาการปวด หากมีอาการแน่นหรือเจ็บหน้าอก แพทย์อาจใช้เพื่อลดอาการปวด ซึ่งต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
    ยาไนโตรไกลเซอริน (Nitroglycerin) ยาดังกล่าวจะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดหัวตีบ โดยยาอาจเข้าไปทำให้หลอดเลือดที่ตีบขยายตัวมากขึ้น และส่งผลดีต่อการไหลเวียนของเลือด
    ยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) ในผู้ป่วยหัวใจขาดเลือด อาจมีการใช้ยานี้เพื่อคลายกล้ามเนื้อหัวใจ ลดความเร็วของอัตราการเต้นหัวใจ และลดความดันโลหิต ซึ่งอาจช่วยให้หัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
    ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitors) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยยาจะเข้าไปลดระดับความดันโลหิต และช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้ดีขึ้น


การผ่าตัด

บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเพื่อช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนไปยังหัวใจได้อย่างเพียงพอมากขึ้น โดยแพทย์มักใช้วิธีการผ่าตัดต่าง ๆ เช่น
การทำบอลลูนและการถ่างด้วยขดลวด (Coronary Angioplasty and Stenting)

การขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการทำบอลลูนและการถ่างด้วยขดลวดเป็นการผ่าตัดที่จะนำอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายบอลลูนใส่เข้าไปที่หลอดเลือดหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือดบริเวณที่อุดตันหรือตีบ จากนั้น แพทย์อาจนำขดลวดหรือท่อเล็ก ๆ สอดเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ โดยเริ่มจากที่บริเวณขา หรือขาหนีบ เพื่อถ่างหลอดเลือดไว้

โดยวิธีการผ่าตัดนี้สามารถช่วยฟื้นฟูระบบไหลเวียนเลือดให้สามารถไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้อย่างเพียงพอ


การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Surgery)

ในบางกรณีผู้ป่วยอาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อบายพาสหลอดเลือดหัวใจอย่างเร่งด่วน โดยแพทย์จะนำหลอดเลือดดำบริเวณขามาเชื่อมต่อกับหลอดเลือดหัวใจ เพื่อเบี่ยงทางไหลเวียนของเลือดข้ามส่วนที่ตีบหรืออุดตัน เมื่อผ่าตัดแล้วระบบไหลเวียนเลือดจะค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติ ทำให้หัวใจกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพของตนเอง และทำตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น เลิกสูบบุหรี่ ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ความดันโลหิตสูง และระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมทั้งผู้ป่วยควรหาวิธีคลายความเครียด เพราะความเครียดอาจยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคหัวใจขาดเลือดหรือได้รับการผ่าตัดหัวใจจำเป็นต้องรักษาในห้อง ICU หรือห้อง ICCU ซึ่งเป็นห้องที่ใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และมักใช้ระยะรักษานานหลายวันจนกว่าอาการจะคงที่


ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจขาดเลือด

ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดส่วนใหญ่มักพบกับภาวะแทรกซ้อนได้ ไม่ว่าจะมีอาการรุนแรงหรือไม่ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด อาจมีดังนี้

    หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย อาจส่งผลให้กระแสไฟฟ้าที่กระตุ้นการเต้นของหัวใจทำงานผิดปกติ และทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ นอกจากนี้ หากหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ อาจนำมาสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันและทำให้เสียชีวิตได้
    หัวใจวาย (Heart Failure) เมื่อหัวใจขาดเลือดและออกซิเจน กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนอาจเริ่มตาย และไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ โดยอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการรักษาหัวใจวายและฟื้นฟูความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ
    ภาวะช็อกจากโรคหัวใจ (Cardiogenic Shock) ภาวะช็อกจากโรคหัวใจมีอาการคล้ายกับภาวะหัวใจวาย แต่อาจรุนแรงมากกว่า เพราะมักเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้
    ผนังกล้ามเนื้อหัวใจฉีกขาด (Heart Rupture) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงมาก ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจส่วนต่าง ๆ เช่น ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหรือลิ้นหัวใจเกิดการปริแตก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน อาจทำให้เสียชีวิตได้

การป้องกันหัวใจขาดเลือด

สิ่งสำคัญที่อาจช่วยให้ห่างไกลจากโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ดีที่สุดก็คือการดูแลรักษาระบบหัวใจและหลอดเลือดให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยวิธีการป้องกันหัวใจขาดเลือด อาจดังนี้

    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม โดยอาหารที่ควรรับประทาน เช่น อาหารที่มีไขมันดี ผัก ผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง
    หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่มีไขมันที่ไม่ดี อาหารที่มีรสเค็มจัด หรืออาหารแปรรูปต่าง ๆ
    เลิกสูบบุหรี่ การเลิกสูบบุหรี่อาจช่วยให้ระบบหัวใจ หลอดเลือด และปอดทำงานได้ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์หากไม่สามารถเลิกได้ด้วยตนเอง
    ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ การควบคุมความเครียดและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยลดความดันโลหิต ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือดได้
    ควบคุมน้ำหนัก การมีน้ำหนักเยอะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด เพราะร่างกายอาจมีไขมันสะสมเยอะ และอาจทำให้เกิดหลอดเลือดหัวใจตีบได้
    ออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพเป็นประจำ เช่น การเล่นแอโรบิก

ทั้งนี้ หากสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ควรวางแผนรับมือหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน โดยการจดรายละเอียดยาที่ใช้ ยาที่แพ้ และเตรียมหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยแพทย์ฉุกเฉินไว้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรพกข้อมูลติดต่อของคนใกล้ชิดที่สามารถติดต่อได้ทันที เพราะยิ่งได้รับการรักษาเร็ว ก็ยิ่งเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้