ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: กระดูกหัก (Fracture/Broken bones)  (อ่าน 147 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 437
  • โพสประกาศขายในไทยฟรี
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: กระดูกหัก (Fracture/Broken bones)
« เมื่อ: วันที่ 28 พฤศจิกายน 2024, 23:13:45 น. »
Doctor At Home: กระดูกหัก (Fracture/Broken bones)

กระดูกหัก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

กระดูกหักแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ได้เเก่

1. กระดูกหักชนิดธรรมดา (simple fracture/closed fracture) จะมีอาการกระดูกหักเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีบาดแผลที่ผิวหนัง และกระดูกจะไม่โผล่ออกนอกผิวหนัง

2. กระดูกหักชนิดซับซ้อนหรือมีบาดแผล (compound fracture/open fracture) จะมีบาดแผลซึ่งลึกถึงกระดูก หรือกระดูกที่หักอาจทิ่มแทงทะลุออกนอกเนื้อ ถือเป็นชนิดร้ายแรง อาจทำให้ตกเลือดรุนแรง เส้นประสาทถูกทำลาย หรือติดเชื้อได้ง่าย เป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียแขนขาได้

สาเหตุ

ส่วนมากมักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ เช่น หกล้ม รถคว่ำ รถชน เป็นต้น

ในผู้สูงอายุ กระดูกเสื่อม ผุและเปราะ จึงมีโอกาสหักง่าย เมื่อถูกแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย ที่พบได้บ่อย คือ กระดูกต้นขาและสะโพกหัก


อาการ

บริเวณที่หักมีลักษณะบวม เขียวช้ำ เจ็บปวด ซึ่งจะเป็นมากเวลาเคลื่อนไหวหรือใช้มือกดถูก บางรายอาจรู้สึกเคลื่อนไหวส่วนนั้นลำบาก (ถึงแม้จะเคลื่อนไหวได้ตามปกติก็อาจหักได้เช่นกัน)

แขนขาส่วนที่หัก อาจมีลักษณะผิดรูปผิดร่าง เช่น โก่งงอ หรือสั้นกว่าข้างที่ดี

บางครั้งถ้าลองจับกระดูกบริเวณนั้นดู อาจได้ยินเสียงกระดูกสีกัน หรือรู้สึกกรอบแกรบ

แต่กระดูกบางแห่ง เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาจมีอาการบวมและปวดเพียงเล็กน้อย จนเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงข้อเคล็ดข้อแพลงก็ได้


ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้กระดูกที่หักต่อกันได้ไม่ดี ทำให้แขนขาโก่งได้

ถ้าเป็นกระดูกหักชนิดซับซ้อน อาจทำให้หลอดเลือดแดงฉีก ตกเลือดรุนแรงถึงช็อกได้ หรืออาจทำให้เส้นประสาทฉีกขาดเป็นอัมพาตและชาได้ หรือไม่ก็อาจมีการติดเชื้อรุนแรง จนกลายเป็นโลหิตเป็นพิษได้ บางรายอาจติดเชื้อเรื้อรังกลายเป็นกระดูกอักเสบเป็นหนองเรื้อรัง (chronic osteomyelitis)

สำหรับผู้สูงอายุที่มีกระดูกต้นขาหรือสะโพกหักซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการหกล้ม อาจทำให้เป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง เกิดภาวะแทรกซ้อน (เช่น โรคปอดอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ แผลกดทับ) มีความยุ่งยากในการดูแลรักษาและเสียชีวิตได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ และยืนยันการวินิจฉัยโดยเอกซเรย์ดูลักษณะการหักของกระดูก

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การปฐมพยาบาล เช่น ห้ามเลือด ใส่เฝือกหรือดามกระดูกส่วนที่หักไว้ ถ้าช็อกให้น้ำเกลือแล้วให้การรักษาโดยพยายามดึงกระดูกให้เข้าที่ (ถ้าจำเป็นอาจต้องดมยาให้ผู้ป่วยสลบ) แล้วใส่เฝือกปูนปลาสเตอร์ไว้

ถ้ากระดูกต้นขาหัก บางครั้งอาจต้องให้ผู้ป่วยนอนบนเตียง แล้วใช้น้ำหนักถ่วงดึงให้กระดูกเข้าที่ ผู้ป่วยอาจต้องนอนนิ่ง ๆ อยู่เป็นสัปดาห์ ๆ

ในบางรายอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ใช้เหล็กดามกระดูกไว้

หากกระดูกหักแหลกละเอียด หรือมีบาดเเผลเหวอะหวะที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง อาจต้องรักษาด้วยการตัดแขนหรือขาส่วนนั้นทิ้ง เพื่อรักษาชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยเสียก่อน เมื่อแผลหายแล้ว จึงค่อยให้ผู้ป่วยใส่แขนขาเทียม ซึ่งจะช่วยให้เดินและทำงานได้

การดูแลตนเอง

หากสงสัย ควรให้การปฐมพยาบาล แล้วรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่ากระดูกหัก ควรดูแลรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

การปฐมพยาบาลกระดูกหัก

1. ถ้าพบว่ามีบาดแผลในบริเวณอื่นที่ไม่ใช่ตำแหน่งที่มีกระดูกหักร่วมด้วย และมีเลือดออก ควรทำการห้ามเลือด ดังนี้

    ถ้าบาดแผลเล็ก ควรใช้ผ้าสะอาดพันทบหนา ๆ หลายชั้น วางบนปากแผลแล้วใช้นิ้วหรือ อุ้งมือ กดห้ามเลือด หรือใช้ผ้าพันรัดให้เเน่น
    ถ้าบาดแผลใหญ่ และเลือดไหลรุนแรง ควรใช้ผ้า เชือก หรือสายยางรัดเหนือบาดแผลประมาณ 1 ฝ่ามือ ให้เเน่นพอที่จะห้ามเลือดได้ เรียกว่า การรัดทูร์นิเคต์ (tourniquet) หรือการขันชะเนาะ แล้วรีบนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ควรจดเวลาที่เริ่มขันชะเนาะ และแจ้งให้แพทย์ทราบถึงระยะเวลาของการขันชะเนาะ เพื่อวางแผนในการรักษา

2. สำหรับกระดูกหักแบบปิด คือ กระดูกหักอยู่ภายใน โดยไม่มีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรปฏิบัติดังนี้

    ทำการดามกระดูกส่วนที่หัก โดยใช้แผ่นไม้ กระดาษแข็ง หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พับทบหลาย ๆ ชั้น ทำเป็นเฝือกวางแนบส่วนที่หัก โดยให้ปลายทั้ง 2 ข้างครอบคลุมถึงข้อที่อยู่เหนือและใต้ส่วนที่หัก ใช้ผ้าพันยึดไว้ไม่ให้เคลื่อนไหว
    ถ้าเป็นปลายแขนหรือมือ ให้ใช้ผ้าคล้องคอ
    ถ้าเป็นที่ขา อาจใช้ขาข้างที่ดีทำเป็นเฝือกแทน โดยใช้ผ้าหรือกระดาษหนา ๆ วางคั่นตรงกลางขาทั้ง 2 ข้าง แล้วใช้ผ้าพันรอบขาทั้ง 2 ข้างหลาย ๆ เปลาะ
    ถ้าปวดกินพาราเซตามอล* บรรเทา

3. สำหรับกระดูกหักแบบเปิด คือ มีบาดแผลที่ผิวหนัง และกระดูกโผล่ออกนอกเนื้อ ควรปฏิบัติ ดังนี้

    ห้ามดึงกระดูกให้กลับเข้าที่ เพราะจะทำให้เชื้อโรคและสิ่งสกปรกจากภายนอกเข้าไปในบาดแผล ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ยังทำให้เจ็บปวดมากขึ้น และอาจเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อที่ใต้ผิวหนัง (เช่น กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นเลือด และเส้นประสาท) ได้
    ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด (น้ำต้มสุก หรือน้ำขวดที่ใช้ดื่ม) หรือน้ำเกลือ (ที่ใช้ทางการแพทย์) ใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดชุบน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือปิดคลุมกระดูกที่โผล่ออกมาไว้
    ใช้ไม้หรือกระดาษแข็งดามแขนหรือขาที่มีกระดูกหัก (ในท่าที่แขนหรือขาคดงออยู่แต่แรกก็ได้ ไม่จำเป็นต้องดามในท่าเหยียดตรง) หรือพยายามพยุงให้ส่วนที่บาดเจ็บให้อยู่กับที่ไม่ขยับเขยื้อน
    ถอดเครื่องประดับ (เช่นแหวน กำไล) ออกจากปลายแขนหรือขาที่มีกระดูกหัก หากปล่อยไว้จนมีอาการบวมแล้วจะถอดได้ยาก หรือทำให้เกิดอันตรายได้
    ยกแขนหรือขาที่มีกระดูกหักให้สูงกว่าลำตัว และใช้ความเย็น (เช่น น้ำแข็งใส่ถุงสะอาด) ประคบบริเวณใกล้บาดแผลเพื่อบรรเทาปวด ถ้ายังมีอาการปวด กินพาราเซตามอล* บรรเทา
    ถ้ามีเลือดออกให้ทำการห้ามเลือด ด้วยการใช้ผ้าสะอาดกดแรง ๆ บริเวณรอบ ๆ บาดแผล อย่ากดโดนกระดูกที่โผล่ออกมา หรือกรณีที่มีเลือดออกมาก ใช้วิธีขันชะเนาะเหนือบาดแผลประมาณ 1 ฝ่ามือให้แน่นจนห้ามเลือดได้
    ถ้ามีภาวะช็อก (หน้าซีด เหงื่ออก ตัวเย็น หน้ามืด จะเป็นลม) ให้ทำการปฐมพยาบาล โดยให้ผู้ป่วยนอนราบศีรษะต่ำ หาอะไรมารองที่ใต้เท้าหรือยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ ใช้ผ้าหนา ๆ หรือผ้าห่มคลุมหรือห่อตัวให้อบอุ่น
    รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือติดต่อรถพยาบาลมารับ

*เพื่อความปลอดภัย ควรขอคำแนะนำวิธีและขนาดยาที่ใช้ ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวังในการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก สตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือมีการใช้ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งใช้อยู่เป็นประจำ

การป้องกัน

ระมัดระวังป้องกันตัวเองในเรื่องการเกิดอุบัติเหตุ และการหกล้ม

ข้อแนะนำ

1. กระดูกที่หักสามารถต่อกันได้เองโดยธรรมชาติ การรักษาจึงอยู่ที่การดึงกระดูกให้เข้าที่เเละตรึง (ดาม หรือ เข้าเฝือก) ไว้ อย่าให้เลื่อนจากแนวปกติ รอให้กระดูกต่อกันเองจนสนิท ซึ่งอาจกินเวลา 1-3 เดือน ขึ้นกับอายุ (เด็กหายเร็วกว่าผู้ใหญ่) ตำแหน่งที่หัก (แขนหายเร็วกว่าขา) และลักษณะของกระดูกหัก

2. วิธีการรักษากระดูกหักของแพทย์มีได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะของกระดูกหัก ถ้าเป็นกระดูกหักชนิดธรรมดา มักจะต้องดึงกระดูกเข้าที่ แล้วใส่เฝือกปูน แล้วนัดมาตรวจเป็นระยะจนกว่าจะหายสนิทจึงถอดเฝือกออก

ถ้าเป็นกระดูกหักชนิดซับซ้อน การรักษาอาจยุ่งยากขึ้น อาจต้องผ่าตัด

มีผู้ป่วยเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่อาจต้องพิจารณาให้ตัดแขนหรือขาส่วนนั้นทิ้ง เนื่องจากกระดูกหักอย่างรุนแรง ปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงตายได้

     3. ชาวบ้านมักมีความเชื่อและความกลัวอย่างผิด ๆ เกี่ยวกับการรักษากระดูกหักของแพทย์ เช่น

    เชื่อว่าใส่เฝือกปูนหนา ๆ อาจทำให้เนื้อเน่าอยู่ในเฝือก
    รู้สึกว่าการให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงและใช้น้ำหนักถ่วงกระดูกให้เข้าที่ เป็นเรื่องที่น่าทรมาน หรือไม่ก็คิดว่าแพทย์ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น
    กลัวที่จะถูกตัดแขน ตัดขา เป็นต้น

ดังนั้น แพทย์ผู้รักษาควรใช้หลักจิตวิทยาในการพูดคุยชี้แจงให้ผู้ป่วยเข้าใจวิธีการรักษาของแพทย์