ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อมูลโรคกระเพาะทะลุ  (อ่าน 3 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 435
  • โพสประกาศขายในไทยฟรี
    • ดูรายละเอียด
ข้อมูลโรคกระเพาะทะลุ
« เมื่อ: วันที่ 4 มกราคม 2025, 19:31:30 น. »
ข้อมูลโรคกระเพาะทะลุ

กระเพาะทะลุ หรือกระเพาะอาหารทะลุ คือ ภาวะที่ผนังกระเพาะอาหารมีรู ซึ่งอาจเกิดจากแผลในกระเพาะอาหาร หรือสาเหตุอื่น ๆ อย่างการเกิดอุบัติเหตุทางร่างกาย โดยโรคนี้มักเกิดขึ้นร่วมกับเยื่อบุช่องท้องอักเสบเมื่อมีเชื้อแบคทีเรีย เศษอาหาร หรือกรดในกระเพาะอาหารสัมผัสกับโพรงช่องท้อง จนอาจทำให้ผู้ป่วยปวดท้องรุนแรง และเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดหรือเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยจึงต้องไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วนหากมีอาการของกระเพาะทะลุ และมักต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด

อาการของกระเพาะทะลุ

ผู้ป่วยมักมีอาการซึ่งเกิดขึ้นร่วมกับเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ดังนี้

    ปวดท้องมาก โดยเฉพาะเมื่อถูกสัมผัสหรือคลำตรวจ โดยผู้ป่วยมักท้องบวมและท้องแข็งกว่าปกติ ซึ่งมีอาการดีขึ้นเมื่อนอนนิ่ง ๆ
    คลื่นไส้ อาเจียน
    มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย
    ปัสสาวะ อุจจาระ หรือผายลมน้อยกว่าปกติ
    หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบเหนื่อย


สาเหตุของกระเพาะทะลุ

หากเป็นกระเพาะทะลุที่เกิดขึ้นเองนั้น ในทางการแพทย์ยังคงไม่ทราบถึงสาเหตุแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดกระเพาะทะลุ ได้แก่

    ความเครียด
    การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่
    การใช้ยาเสพติด เช่น โคเคน หรือแอมเฟทามีน
    การติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร
    การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs อย่างแอสไพริน ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน ยาสเตียรอยด์ และยาเคมีบำบัดบางชนิด
    การเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร และกลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison Syndrome) ซึ่งทำให้มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากผิดปกติ แต่เป็นโรคที่พบได้น้อย
    การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน
    อุบัติเหตุทางร่างกาย เช่น มีดหรือกระสุนทะลุกระเพาะอาหาร การกลืนวัตถุลงกระเพาะอาหาร เช่น ของเล่น เครื่องเขียน เป็นต้น
    การส่องตรวจกระเพาะอาหารด้วยกล้อง อาจทำให้กระเพาะทะลุได้เช่นกัน แม้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก


การวินิจฉัยกระเพาะทะลุ

แพทย์มักวินิจฉัยกระเพาะทะลุโดยซักประวัติร่วมกับตรวจอาการของผู้ป่วยในเบื้องต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเลือดและตรวจภาพถ่ายทางรังสีวิทยา เพื่อวินิจฉัยอาการ ค้นหาสาเหตุของโรค รวมทั้งตรวจหาภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยเฉพาะการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยมีรายละเอียดดังนี้

    ตรวจปริมาณเกลือแร่และความเป็นกรดด่างในเลือด รวมทั้งตรวจการทำงานของตับและไต เพื่อประกอบการวินิจฉัย
    ตรวจปริมาณเม็ดเลือดแดงที่อาจลดลงหากเสียเลือด และปริมาณเม็ดเลือดขาวที่อาจเพิ่มขึ้นหากเกิดการติดเชื้อ
    เอกซเรย์ทางเดินอาหารส่วนบน ช่องอก และลำตัว เพื่อวินิจฉัยอากาศในช่องท้อง และระบุว่าเกิดการทะลุของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารหรือไม่
    ตรวจซีทีสแกนบริเวณช่องท้อง เพื่อระบุตำแหน่งที่กระเพาะทะลุ


การรักษากระเพาะทะลุ

กระเพาะทะลุต้องรักษาที่สาเหตุ โดยอาจมีการรักษา เช่น รักษาแผลในกระเพาะอาหาร การผ่าตัด และการรักษาเยื่อบุช่องท้องอักเสบ โดยมีวิธีการรักษาดังนี้

การรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหารอาจต้องรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหาร ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร ยากลุ่มโปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์และยากลุ่มเอชทูบล็อกเกอร์ซึ่งช่วยยับยั้งการสร้างกรดในกระเพาะอาหารและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร

การผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนหากกระเพาะอาหารทะลุ เพื่อปิดบาดแผล รวมทั้งกำจัดเชื้อแบคทีเรีย เศษอาหาร และกรดในโพรงช่องท้อง ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้กระเพาะทะลุ ขนาดของบาดแผล ระยะของโรคขณะเข้ารับการรักษา และปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้โรคหายช้าหรือเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น ดังนี้

    อายุมาก ขาดสารอาหาร สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดี
    อ้วน หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ และถุงลมโป่งพอง 
    ใช้ยาบางชนิด หรือใช้สารเสพติด เช่น ใช้ยาสเตียรอยด์หรือคอร์ติโคสเตียรอยด์ซึ่งมีฤทธิ์กดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ใช้ยาเพื่อรักษาโรคโครห์น โรคพุ่มพวง ลำไส้อักเสบ และข้ออักเสบ หรือกำลังใช้ยารักษาโรคมะเร็ง
    มีเลือดออก มีก้อนเลือด หรือไตวาย

การรักษาเยื่อบุช่องท้องอักเสบ เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการกระเพาะทะลุร่วมกับเยื่อบุช่องท้องอักเสบ จึงต้องได้รับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ ซึ่งผู้ป่วยที่มีอวัยวะทำงานล้มเหลวจากการติดเชื้อในกระแสเลือดต้องได้รับสารน้ำ ยารักษาความดันโลหิต และสารอาหารร่วมกับยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำด้วย โดยผู้ป่วยต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และเฝ้าระวังภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดหรือภาวะช็อกจากเลือดเป็นพิษ


ภาวะแทรกซ้อนของกระเพาะทะลุ

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากกระเพาะทะลุ ได้แก่ มีเลือดออก ติดเชื้อในช่องท้อง เกิดฝีในช่องท้อง และติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ 


การป้องกันกระเพาะทะลุ

กระเพาะทะลุเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงไม่มีวิธีป้องกันโดยตรง อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ช่วยลดความเสี่ยงจากกระเพาะทะลุ มีดังนี้

    รู้จักวิธีจัดการกับความเครียด
    ไม่ใช้ยาเสพติดทุกชนิด
    งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 1-2 ดื่มมาตรฐาน/วัน
    ไม่สูบบุหรี่
    ไม่รับประทานยากลุ่ม NSAIDs เป็นเวลานาน โดยต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอหากมีความจำเป็นต้องใช้ยานี้ เช่น การรับประทานแอสไพรินเพื่อรักษาโรคหัวใจ
    ผู้ป่วยโรคเรื้อรังควรไปพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาเป็นประจำ หากมีอาการของกระเพาะทะลุ โดยเฉพาะปวดท้องและมีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที